สหรัฐฯมีบริษัท SpaceX ของอีลอน มัสก์ และ Blue Origin ของเจฟฟ์ เบซอส เป็นหัวหอกในการบุกเบิกกิจกรรมด้านอวกาศในฟากเอกชน ทางรัฐบาลจีนก็ริเริ่มที่จะให้มีบริษัทเอกชนในแนวนี้เช่นเดียวกัน และหนึ่งในนั้นคือ Landspace ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง ก่อตั้งในปี 2015 ตามนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ตั้งเป้าให้จีนเป็นมหาอำนาจในด้านอวกาศทัดเทียมรัสเซียและสหรัฐฯ โดยจะต้องมีสถานีอวกาศของจีนในวงโคจรโลกให้ได้ภายในปี 2022
Landspace ได้ปล่อยจรวดเที่ยวปฐมฤกษ์ในนาม “จูเชวี่ย” (Zhuque หรือ 朱雀) ที่ 1 หรือ Zhuque-1 ช่วง 16:00 วันเสาร์ 28 ต.ค.ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถอ่นจากฐานยิง Jiuquan Satellite Launch Center ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
ชื่อจรวด “จูเชวี่ย” (Zhuque) นั้นมาจาก “หงส์เพลิง” หนึ่งในสี่อสูรศักดิ์สิทธิ์ของจีนอันได้แก่ มังกรฟ้า (青龍) หงส์เพลิง (朱雀) เสือขาว (白虎) และเต่าดำ (玄武)
อย่างไรก็ตาม การปล่อยจรวด “หงส์เพลิง-1” คร้้งนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน จรวดเชื้อเพลิงแข็งแบบ 3 ท่อนยาว 19 เมตรหนัก 27 ตันนี้ ไม่สามารถเดินทางไปถึงวงโคจรของโลกได้ เนื่องจากเกิดปัญหากับจรวดท่อนบนสุด (ท่อนที่ 3) ซึ่งจนขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดว่าปัญหาของการปล่อยจรวดเที่ยวปฐมฤกษ์นี้คืออะไร
ความล้มเหลวครั้งนี้ทำให้ดาวเทียม Weila-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมไมโครด้านการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์ CCTV (China Central Television) ของจีนที่พัฒนาโดยบริษัท Beijing MinoSpace Technology จากปักกิ่ง ไม่ได้ขึ้นสู่วงโคจรตามกำหนดการตามไปได้วย
ทาง Landspace ยังมีโครงการในอนาคตคือ Zhuque-2 “หงส์เพลิง” ลำที่สองที่เป็นเทคโนโลยีเชื้อเพลิงเหลวและมีขนาดใหญ่กว่านี้มากคือยาวถึง 48.8 เมตร กำหนดจะขึ้นสู่วงโคจรในปี 2020 ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าความล้มเหลวของ Zhuque-1 จะส่งผลให้มีการวางกำหนดการต่างๆใหม่หรือไม่
อ้างอิง spacenews.com
เครดิตภาพบางส่วนจากทวิตเตอร์ของ Andrew Jones
เรียบเรียงโดย @MrVop