22 ธ.ค.62 นี้ ตรงกับวัน เหมายัน ( อ่านว่าเห-มา-ยัน ) วันซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษดังนี้
- เป็นวันที่กลางคืนยาวที่สุดกลางวันสั้นที่สุดในซีกโลกเหนือ
- ในภาษาอังกฤษเรียก Winter Solstice
- ไทยเรียกวันนี้ว่าวัน “ตะวันอ้อมข้าว”
- จีนเรียกวันนี้ว่าวัน “ตงจื้อ”(冬至) แต้จิ๋วออกเสียง “ตังโจยะ” เป็นวันเทศกาลต้มและร่วมกันรับประทานขนมบัวลอยสีแดงสีขาว
- เป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ของประเทศที่มี 4 ฤดูในซีกโลกเหนือ แปลว่าจบสิ้นฤดูใบไม้ร่วงแล้ว
- ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก เอียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในรอบปี เป็นที่มาของคำว่า “ตะวันอ้อมข้าว” ในภาษาไทย โดยคนไทยโบราณสังเกตลักษณะที่ดวงอาทิตย์วันนี้ที่จะปรากฏขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้โคจรอ้อมลงสู่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
- เป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ของประเทศที่มี 4 ฤดูในซีกโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
- นับจากวันนี้ไป เวลากลางคืนจะหดสั้นลง จนไปเท่ากับเวลากลางวันในวัน วสันตวิษุวัต คือวันที่ 20 เดือนมีนาคมปีหน้า (2020) ซึ่งจีนเรียกว่าวัน ชุนเฟิน(春分)
- วันเหมายันนี้ ไม่แน่นอนในแต่ละปี อยู่ระหว่างวันที่ 21 หรือ 22 หรือ 23 ธันวาคม ไม่ตายตัว
- ในปี 62 นี้ วันเหมายัน ที่กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:36 ที่ 114° ตกเวลา 17:55 ที่ 246°
- เวลากลางวันของวันเหมายันปี 2562 นี้มีความยาว 11:19:08 ชั่วโมง
- ตามภาพด้านบน ขั้วโลกเหนือจากเส้นอาร์คติกขึ้นไปจะไม่เห็นแสงอาทิตย์ตลอด 24 ชั่วโมง ตรงข้ามกับขั้วโลกใต้ที่เป็นเวลากลางวันตลอด 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน
- ปีนี้ เวลาเที่ยงวัน ดวงอาทิตย์ไม่ตรงศรีษะ แต่เอียงไปที่ 52.8°
- คำว่า “เหมายัน” มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี โดยคำว่าเหมา (อ่านว่า เห-มา) แปลว่า หิมะ และ อยน (อ่านว่า อะ-ยะ-นะ) แปลว่า หนทาง หรือทางเดิน รวมความแล้ว สื่อความหมายว่า หนทางแห่งฤดูหนาว
- เวลาที่แสงอาทิตย์ทำมุมเอียงไปทางใต้กับแกนโลกมากที่สุดปีนี้ตรงกับเวลา 11:19 ตามเวลาไทย หลังจากนั้นจะเริ่มเอียงกลับ
เครดิตภาพ Australian Geographic
เรียบเรียงโดย @MrVop