ทีมนักชีววิทยาและนักอนุกรมวิธานนานาชาติพบ “ลู่ตูง” สายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนบริเวณตอนกลางของประเทศพม่า
“ลู่ตูง” หรือ Trachypithecus คือวานรจำพวกค่างชนิดหนึ่ง คำว่า “Lutung” มาจากภาษามลายู ใช้เรียกเพื่อแยกความแตกต่างกับค่างจำพวกอื่น
สายพันธุ์ที่พบใหม่นี้ ได้รับการตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบว่า Trachypithecus popa คำว่า popa คือ เขาโปะป้า เป็นภูเขาไฟสูง 1,518 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ในเขตมัณฑะเลย์ ภาคกลางของพม่า ประมาณ 50 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้จากพุกาม ดังนั้น สำหรับชื่อไทย เราอาจตั้งชื้อมันว่า “ค่างโปะป้า”
ทีมงานเทียบ DNA ของมันกับ “ลู่ตูง” สายพันธุ์อื่นๆเพื้อให้แน่ใจ และก็สามารถยืนยันได้ว่า “ค่างโปะป้า” เป็นคนละสายพันธุ์กับที่เคยรู้จักกันมา
เรายังมีข้อมูลของค่างโปะป้าน้อยมาก แต่คาดว่าน่าจะคล้าย “ลู่ตูง” สายพันธุ์อื่น คือเป็นวานรที่มีนิสัยอาศัยอยู่รวมเป็นฝูงประมาณ 5–20 ตัว มีลักษณะแบบฮาเร็ม โดยตัวผู้ปกครองเพียงตัวเดียวเป็นจ่าฝูง มีตัวเมียรายล้อม มีนิสัยรักสงบและกลัวมนุษย์ กินพืชจำพวกใบไม้ หรือยอดไม้อ่อนเป็นอาหาร เนื่องจากกระเพาะสามารถที่จะย่อยอาหารจำพวกพืชได้เพียงอย่างเดียว อาจกินแมลงบ้าง เพื่อเสริมโปรตีน เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 4–5 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ย 20 ปี
“ค่างโปะป้า กำลังประสบปัญหาใหญ่” Dr. Frank Momberg นักวิจัยจาก Fauna & Flora International หนึ่งในทีมงานกล่าว “พวกมันมีจำนวนคงเหลือน้อยมากเพียงหลักร้อย และกำลังพบภัยคุกคามหลายอย่างเช่นการขยายตัวของเมือง การตัดไม้ทำลายป่า ไปจนถึงการล่าและการค้าสัตว์เลี้ยงที่ผิดกฎหมายของมนุษย์”
ที่มา http://www.sci-news.com/biology/popa-langur-09045.html
เรียบเรียงโดย @MrVop