ดวงจันทร์ที่เราเห็นอยู่ในยามค่ำคืนนั้น ดูเหมือนอยู่ไม่ไกลจากโลกเท่าไร แต่ความเป็นจริงแล้ว ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากกว่าที่เราคิดไว้มาก
ระยะห่างของดวงจันทร์โดยเฉลี่ย (ต้องเฉลี่ยเพราะวงโคจรไม่กลม) นั้นคือ 384,400 กิโลเมตร ยานต่างๆในโครงการอพอลโลต้องใช้เวลาเดินทางนานถึง 3 วันกว่าจะไปถึง (เที่ยวบินที่พานิล อาร์มสตรองไปเหยียบดวงจันทร์ต้องเดินทางนานถึง 75 ชั่วโมง 56 นาที)
อยู่ไกลถึงเพียงนั้น แต่ข้อมูลที่มีทิมนักวิทยาศาสตร์ศึกษาไว้ล่าสุด บอกว่า ดวงจันทร์ยังคงอยู่ในบรรยากาศของโลก
ข้อมูลนี้มาจากยานเฝ้าระวังดวงอาทิตย์ที่มีชื่อว่า SOHO ขององค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA ที่ส่งออกไปโคจรที่จุดลากรานจ์ L1 ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ที่นำกลับมาศึกษากันใหม่โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยรัสเซีย นำโดย Igor Baliukin

ยาน SOHO ทำหน้าที่หลักๆคือหันกล้องไปหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลา จากจุด L1 ไม่ว่าดวงอาทิตย์จะมีปฏิกิริยาอะไร เช่นการปะทุจ้า (Solar flare) การปล่อยมวลสารร้อน (CME) หรือพายุสุริยะ ที่มีทิศทางตรงมาทางโลก ยาน SOHO จะตรวจพบและแจ้งภัยมายังโลกก่อน เพื่อให้ศูนย์ควบคุมต่างๆเตรียมพร้อมรับมือ อย่างเช่นสั่งให้ดาวเทียมต่างๆเข้าสู่ Sleep mode เพื่อลดความเสียหายจากอนุภาคความเร็วสูงที่ดวงอาทิตย์ปล่อยมา เป็นต้น
แต่ระหว่างนั้น ยาน SOHO ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ SWAN ที่ด้านหลังยานก็ได้ใช้อุปกรณ๋นี้ในการสังเกตอนุภาคต่างๆรอบโลก และพบอะตอมของไฮโดรเจน ปรากฏเป็นทรงกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างกว่าขนาดของโลกเราถึง 50 เท่า นั่นคือนับเป็นระยะทางถึง 630,000 กิโลเมตรนับจากโลกเราออกไป ห่อหุ้มทั้งโลกและดวงจันทร์ไว้ภายในทรงกลมไฮโดรเจนนี้
ทีมงานเรียกทรงกลมไฮโดรเจนที่ห่อหุ้มโลกและดวงจันทร์เอาไว้ว่า Geocorona และถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชั้นบรรยากาศโลกชั้นนอกสุด นั่นแปลว่า ดวงจันทร์ที่เราว่าไกลนักหนาก็ยังไม่อาจพ้นไปจากบรรยากาศโลกเราเอง
ผลการศึกษานี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร advancing earth and space science
ที่มาและเครดิตภาพ bigthink.com
เรียบเรียงโดย @MrVop