บนดวงจันทร์ไม่ได้มีน้ำแค่ในก้นหลุมอุกกาบาตที่ขั้วใต้ แต่ล่าสุดมีการพบโมเลกุลน้ำกระจายในแทบทุกพื้นที่ ไม่เว้นบริเวณที่ถูกแสงแดดอันร้อนแรงส่องถึง
ทีมงานที่นำโดย คาเซย์ ฮอนนิบอล จากศูนย์การบินอวกาศ Goddard ของ NASA ในรัฐแมริแลนด์ ใช้กล้องโทรทรรศน์ลอยฟ้าโซเฟียส่องพบโมเลกุลน้ำบนดวงจันทร์
กล้องโทรทรรศน์ลอยฟ้าโซเฟีย คือกล้องดูดาวย่านอินฟราเรดขนาด 2.5 เมตรที่ติดตั้งไว้บนเครื่องบินโบอิ้ง 747SP ผลงานร่วมของ NASA กับ German Aerospace Center (DLR) ของเยอรมนี ใช้งานโดยบินขึ้นไปถ่ายภาพที่ความสูงระดับชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ชื่อ SOFIA มาจากคำว่า Stratospheric Observatory for Infrared Astronomy
ทีมงานอธิบายว่าสิ่งที่กล้องโซเฟียส่องพบนี้เป็นโมเลกุลของน้ำ (H₂O) ที่แทรกตัวอยู่ในก้อนฝุ่นดิน ไม่ใช่น้ำในรูปแบบน้ำแข็งหรือน้ำที่เป็นของเหลว
การที่โมเลกุลของน้ำปรากฏในลักษณะนี้ทำให้มันสามารถคงอยู่ได้แทบทุกพื้นที่บนดวงจันทร์ แม้จะหันหาแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงจนอุณหภูมิขึ้นสูงเกิน 100°C ก็ตาม
น้ำที่พบทั่วไปบนผิวดวงจันทร์นี้ส่งผลดีต่อโครงการอาทีมิส (โครงการนำมนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ในปี 2024 ของ NASA) รวมทั้งโโครงการตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ในอนาคต เพราะน้ำนอกจากใช้ในการอุปโภคบริโภคสำหรับนักบินอวกาศแล้ว ยังสามารถนำมาแยกเป็นอ๊อกซิเจนสำหรับหายใจ และไฮโดรเจนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงของยานอวกาศอีกด้วย
การค้นพบครั้งนี้ ส่งผลให้ภารกิจของยานโรเวอร์ ‘ไวเปอร์’ (Volatiles Investigating Polar Exploration Rover: VIPER) ที่ทาง NASA จะส่งขึ้นไปวิ่งสำรวจผิวดวงจันทร์ จะมีการสร้างแผนที่แหล่งน้ำที่จะพบเอาไว้ด้วย
ที่มา https://www.nasa.gov/press-release/nasa-s-sofia-discovers-water-on-sunlit-surface-of-moon/
เรียบเรียงโดย @MrVop