วันนี้ โลกได้รู้จักกับ SARS-CoV-2 ไวรัสต้นเหตุของโรค COVID-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทุกประเทศจนมีผู้ติดเชื้อเกือบร้อยล้านคน ไวรัสนี้มีต้นทางจากค้างคาวที่ถึงแม้จะแพร่ได้เร็วแต่มีอัตราการเสียชีวิตไม่มาก ต่างจาก ไวรัสนิปาห์ (Nipah) ที่มีต้นทางจากค้างคาวเช่นเดียวกัน ไวรัสนี้มีความสามารถในการแพร่ระบาดต่ำกว่าแต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่ามากจนน่าตกใจ
ไวรัสนิปาห์ เป็นไวรัส ชนิด RNA ในสกุล Henipaviruses วงศ์ Paramyxovidae มีต้นกำเนิดในค้างคาวผลไม้ สามารถระบาดไปสู่และแพร่ระบาดระหว่างสัตว์ด้วยกันเช่นสุกร สุนัข แพะ แมว ม้า แกะ ระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์ผ่านทางสารคัดหลั่งเช่นน้ำลายหรือมูลค้างคาว และล่าสุดพบว่ามีการระบาดระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองอีกด้วย
เส้นทางการแพร่ระบาด
- พ.ศ. 2541 พบครั้งแรกในประเทศมาเลเซียเดือนกันยายน เกิดการติดเชื้อผ่านทางสุกรสู่มนุษย์ มีผู้ป่วยอาการไข้สมองอักเสบทั้งหมด 265 ราย เสียชีวิต 105 ราย
- พ.ศ. 2542 พบผู้ป่วยที่ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย จากการสัมผัสสุกรซึ่งนำเข้าจากมาเลเซีย
- พ.ศ. 2544 พบการระบาดในเมืองสิริกุรี ตอนเหนือของประเทศอินเดีย ผู้ป่วยจำนวน 66 ราย เสียชีวิต 45 ราย
- พ.ศ. 2544-2555 เริ่มระบาดระหว่างมนุษย์ด้วยกันในประเทศอินเดียและบังคลาเทศ จากการบริโภคน้ำจากผลอินทผลัมที่ปนเปื้อนน้ำลายของค้างคาวผลไม้ ผู้ป่วย 214 ราย เสียชีวิต 166 ราย
- พ.ศ. 2557 มีการระบาดในประเทศฟิลิปปินส์ โดยพบผู้ป่วยจำนวน 17 ราย และพบม้าเสียชีวิตจำนวนมาก
- พ.ศ. 2561 พบการระบาดในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย มีรายงานผู้ติดเชื้อเสียชีวิตแล้ว 12 ราย โดยเป็นพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย 1 ราย
เมื่อเกิดการติดเชื้อในมนุษย์ ไวรัสนี้จะมีระยะฟักตัวประมาณ 4-60 วัน โดยผู้ติดเชื้อร้อยละ 90 จะเริ่มแสดงอาการภายใน 14 วัน การตรวจวินิจฉัยโรคนี้ทำได้ยาก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สมองอักเสบเป็นหลัก และอาจรุนแรงจนเสียชีวิต อัตราการเสียชีวิตของโรคที่เกิดจากไวรัสนิปาห์นี้สูงมากถึง 75% และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ไม่มียารักษา การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองตามอาการ
องค์การอนามัยโลกจัดให้ไวรัสนิปาห์อยู่ใน 10 อันดับแรกของโรคที่อาจมีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในอนาคต