ในทุกวินาที มีนิวทริโนกว่าร้อยล้านล้านอนุภาคพุ่งทะลุร่างกายเราไปโดยเราไม่รู้สึกตัว ตรวจวัดแทบไม่ได้ นี่คือที่มาของชื่อ “อนุภาคผี” หรือ Ghost partical นั่นเอง
นิวทริโนเป็นอนุภาคมูลฐานที่เป็นไม่มีประจุ จึงเป็นกลางทางไฟฟ้า มีค่าสปินเป็น ½ เป็น อนุภาคมูลฐานในกลุ่มเลปตอน (สีเขียวในตารางด้านล่าง) กลุ่มเดียวกับ อนุภาค อิเล็กตรอน อนุภาค มิวออน และ อนุภาคเทา

อนุภาคในกลุ่มเลปตอน จะไม่ถูกกระทบโดยอันตรกิริยาอย่างเข้มที่จะกระทำต่อทุกอนุภาคที่ประกอบเป็นนิวเคลียสของอะตอม และอนุภาคผีอย่างนิวทริโนนั้นไม่เหมือนอิเล็คตรอน เนื่องจากมันเป็นกลางทางไฟฟ้า จึงไม่ถูกรบกวนโดยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย แรงพื้นฐานที่เหลือ 2 ใน 4 แรงที่จะส่งผลต่อนิวทริโนจึงเหลือเพียงแรงอันตรกิริยาอย่างอ่อนและแรงโน้มถ่วงเท่านั้น แต่แรงอันตรกิริยาอย่างอ่อนแรงโน้มถ่วงส่งผลสั้นมาก แรงโน้มถ่วงก็อ่อนสุดขั้วในระยะทางระดับอนุภาค ดังนั้นนิวทริโนจึงสามารถพุ่งทะลุสสารทั่วไปได้โดยง่าย ไม่ถูกขวางกั้นและไม่สามารถตรวจจับได้

ระหว่างที่นิวทริโนพุ่งทะลุสิ่งต่างๆ มันจะเกิดการสั่นหรือ oscillate จนสามารถเปลี่ยนสถานะไปมาระหว่าง 3 เฟลเวอร์ที่มีอยู่ จุดนี้เองที่ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และบราซิล ประกาศว่าสามารถตรวจหาค่าของมวลที่เป็นไปได้ในระดับสูงสุดของอนุภาคนิวทริโนชนิดที่เบาที่สุดได้แล้ว โดยคำนวนพบว่า มวลนิวทริโนนั้นมีขนาดน้อยมาก พูดง่ายๆว่ามันเบากว่าอิเล็กตรอนถึงอย่างน้อย 6 ล้านเท่า !
ทีมผู้วิจัยใช้วิธีประมวลผลโดยรวบรวมข้อมูลจาก Big data เกี่ยวกับอนุภาคมูลฐานและเอกภพแล้วนำมาสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Grace ของ UCL คำนวณหาค่าของมวล ทีมงานพบว่าในจุดที่มวลน้อยที่สุดนั้น ค่าของมวลปรากฏเท่ากับ 0.086 อิเล็กตรอนโวลต์ หรือ 1.5 × 10 ¯³⁷ กิโลกรัมเท่านั้น
อนุภาคนิวทริโนเป็นอนุภาคเพียงชนิดเดียวที่รู้จักในขณะนี้ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นสสารมืดที่เรากำลังค้นหาอยู่ซึ่งรับผิดชอบต่อมวลส่วนที่หายไปของเอกภพที่เรายังไม่อาจตรวจพบได้ และยังส่งผลให้จักรวาลขยายตัวในอัตราเร่ง
ผลการศึกษาตีพิม์เผยแพร่ในวารสาร Physical Review Letters [กดอ่าน]
เรียบเรียงโดย @MrVop