30 มิ.ย. วันดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Day) กับภัยร้ายที่พูดถึงกันในวันนี้
เมื่อวานนี้ 30 มิ.ย. เป็นวันดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Day) มีอีเวนท์ที่จัดชึ้นเพื่อให้โลกตระหนักถึงภัยธรรมชาติชนิดนี้ และอดีตมือกีตาร์วง Queen ที่จบเอกทางดาราศาสตร์ ดอกเตอร์ไบรอัน เมย์ ก็ออกมาให้ความเห็นว่า หากมีการตกสู่พื้นน้ำแอตแลนติกหรือทะเลเหนือของดาวตกขนาดใหญ่ จะทำให้เกาะอังกฤษ (คนพูดอยู่อังกฤษ) มีความเสี่ยงที่จะโดนคลื่นสึนามิที่เกิดจากการกระแทกค่อนข้างสูง นักวิทยาศาสตร์อีกหลายท่านก็สนับสนุนแนวคิดนี้และเห็นความจำเป็นในการเตรียมตัวรับมือ
พื้นโลกกว่า 75 % เป็นน้ำ นั่นหมายถึงโอกาส 3 ใน 4 ของดาวตก จะตกลงสู่ทะเลหรือมหาสมุทร และเมื่อมีการตกลงในจุดใดจุดหนึ่งของพื้นน้ำ จะเกิดความเร่งเกินค่า g ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขึเนมา โดยสามารถคำนวนความสูงคลื่นที่จะมาถึงเราได้จากสูตร 10.9 × (ระยะทางวัดไปถึงจุดศูนย์กลางหลุมอุกกาบาตหน่วยเป็น กม.)-0.717 × (พลังงานการชนหน่วยเป็นเมกกะตันของ TNT)0.495 หรืออาจทำเป็นค่าคำนวนคร่าวๆของอุกกาบาต 2 ขนาด คือขนาด 1 และ 10 กม. ตามตารางข้างล่างนี้
ระยะห่างเป็นกิโลเมตร | อุกกาบาตขนาด 10 กิโลเมตร | อุกกาบาตขนาด 1 กิโลเมตร |
---|---|---|
300 | คลื่นสูง 1,300 เมตร | คลื่นสูง 42 เมตร |
1,000 | คลื่นสูง 540 เมตร | คลื่นสูง 18 เมตร |
3,000 | คลื่นสูง 250 เมตร | คลื่นสูง 8 เมตร |
10,000 | คลื่นสูง 100 เมตร | คลื่นสูง 3 เมตร |
จากตารางจะเห็นได้ว่าหากมีการตกลงมาของดาวเคราะห์น้อยขนาด 10 กม. ไม่ว่าจะลงตรงไหนของจุดน้ำลึกกลางมหาสมุทรแปซิฟิค เมืองทุกเมืองในทุกประเทศรอบมหาสมุทรจะโดนคลื่นสึนามิขนาดความสูงเป็นร้อยเมตรกันหมด
ขณะนี้มีดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก ราว 500 ดวงที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวัง เราเรียกเจ้า 500 ดวงนี้ว่า Potentially hazardous objects (PHOs) จากจำนวนที่ค้นพบล่าสุด (NEOs) 13,000 ดวง และเพื่อเตรียมการรับมือเรื่องร้ายนี้ Clemens Rumpf นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเซาแทมตันได้พัฒนาซอฟท์แวร์ขึ้นมาตัวหนึ่ง เรียกว่า ARMOR เพื่อคำนวนหาค่าความเสี่ยงของจุดตกจากอุกกาบาต โดยมีผลการทำงานปรากฏตามรูปด้านล่างนี้
จากภาพนั้นจะแยกสีตามโอกาส โดยความเสี่ยงสูงสุดคือ 1 ในหมื่น จากผลการทำงานของโปรแกรมสอดคล้องกับคำพูดของดอกเตอร์ไบรอัน เมย์ว่าอังกฤษ จริงๆก็ยุโรปและอีกหลายโซนนั้นมีโอกาสโป๊ะเชะมากกว่าโซนอื่น (ในภาพจะเห็นสุมาตราก็อยู่ในข่าย) “ประโยชน์ของโปรแกรมนี้ก็คือการเตรียมการอพยพ” Clemens Rumpf กล่าว
ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่า 50 เมตรนั้น ส่องพบแน่นอน และยิ่งขนาดใหญ่เป็นกิโลเมตร เราจะเห็นล่วงหน้านานเป็นปีๆหรือสิบปี ทำให้เรามีเวลาพอที่จะเตรียมตัวนั่นคือการอพยพ หรือในกรณีลูกใหญ่จริงๆ ใหญ่ชนิดอพยพไปก็ไร้ประโยชน์ ทางนาซาก็กำลังหาทางแก้ไขอยู่ในโครงการ AIDA
อ้างอิง http://rt.com/uk/270667-asteroid-tsunami-britain-risk/
http://www.astronomynotes.com/solfluf/s5.htm
เรียบเรียงโดย @MrVop
** ชนิดของชื่อเรียก
1.สะเก็ดดาวคือก้อนหินอวกาศที่เล็กกว่า 10 เมตร
2.ดาวเคราะห์น้อยคือก้อนหินอวกาศที่ใหญ่กว่า 10 เมตรและไม่กลม ไม่มีหาง
3.ดาวหางคือก้อนหินอวกาศห่อหุ้มด้วยน้ำแข็ง และมีหาง
4.ถ้ายังไม่ตกเข้ามาในบรรยากาศโลก เรายังไม่เรียกว่าอุกกาบาต