เรารู้กันว่าดาวฤกษ์นั้นไม่ต่างจากลูกไฟที่มีแสงสว่างในตัวเอง ส่วนดาวเคราะห์นั้นหาดไม่เป็นลูกกลมแก้สก็เป็นหินที่สร้างแสงสว่างเองไม่ได้ แต่เชื่อไหมว่านักวิทยาศาสตร์ได้พบดาวเคราะห์ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าดาวฤกษ์บางชนิดเข้าให้แล้ว
ดาวเคราะห์ “โคตรร้อน” ดวงนี้มีชื่อเรียกว่า KELT-9b เป็นผลงานการค้นพบของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกนำโดย Megan Mansfield
KELT-9b มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสราว 3 เท่า อยู่ห่างจากโลกเราออกไปราว 670 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวซิกนัส ดาวเคราะห์ประหลาดดวงนี้มีอุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 4,300 °C ทำให้มันครองตำแหน่งดาวเคราะห์ที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบกันมา ร้อนกว่าดาวฤกษ์จำพวกดาวแตระน้ำตาล หรือดาวแคระแดงบางดวงเสียอีก
จากการสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซา ทีมนักดาราศาสตร์พบว่า KELT-9b น่าจะเป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนจัดจนโมเลกุลไฮโดรเจนในชั้นบรรยากาศไม่อาจคงสภาพอยู่ได้ในฝั่งที่เป็นกลางวัน แต่โมเลกุลเหล่านี้จะกลับคืนสภาพในฝั่งกลางคืนแล้วก็ถูกแผดเผาอีกครั้งหมุนเวียนไปเรือยๆเมื่อโมเลกุลในชั้นบรรยากาศหมุนวนไปรอบดาว
สาเหตุที่มาของความร้อนมหาศาลลนดาวเคราะห์ดวงนี้ก็เนื่องมาจากการที่มันมีวงโคจรใกล้ชิดดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบของมันมากเกินไปจนสามารถโคจรรอบดาวฤกษ์ได้ครบรอบในเวลาเพียง 1.5 วันเท่านั้น
การค้นพบครั้งนี้ถูกตีพิมพ์ในวันที่ 7 มกราคมในวารสาร The Astrophysical Journal Letters
เรียบเรียงโดย @MrVop