ทีมนักวิทยาศาสตร์ นำโดย Murthy Gudipati Bryana Hendersonจากห้องปฏิบัติการ Jet Propulsion ของ NASA และ Fred Bateman จากสถาบัน National Institute of Standards and Technology ในสหรัฐฯ พบผิวน้ำแข็งบนฝั่งกลางคืนของดวงจันทร์ยูโรปา บริวารดาวพฤหัสบดี สามารถเรืองแสงจนมองเห็นได้ในอวกาศอันมืดมิด อันเป็นผลจากการถูกระดมยิงโดยอนุภาคพลังงานสูง
การค้นพบของทีมนักวิทยาศาสตร์นี้มีความำคัญต่อโครงการ Europa Clipper ซึ่งเป็นโครงการส่งยานอวกาศไปค้นหาชีวิตในมหาสมุทรใต้ผิวน้ำแข็งของดวงจันทร์ยูโรปาในอนาคตเป็นอย่างมาก
ยูโรปาเป็นดาวบริวารดวงเล็กที่สุดในบรรดาดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัส เป็นดวงจันทร์ที่มีผิวราบเรียบที่สุดในระบบสุริยะ และเป็นดวงจันทร์ที่เชื่อกันว่ามีมหาสมุทรน้ำเค็มขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำแข็งที่อาจมีโอกาสในการพบชีวิตขนาดเล็กระดับจุลชีพอาศัยอยู่ที่นั่น
การโคจรเข้าไปในสนามแม่เหล็กที่ทรงพลังของดาวพฤหัส ส่งผลให้ดวงจันทร์ยูโรปาถูกอนุภาคต่างเช่นอิเล็กตรอน ไอออน โปรตอน จำนวนมหาศาลพุ่งเข้าใส่ อนุภาคเหล่านี้จะไปทำปฏิกิริยาทั้งทางเคมีและฟิสิกส์กับแร่ธาตุต่างๆที่อยู่ในผิวของดวงจันทร์จนเกิดการเรืองแสงในระดับความสว่างที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของแร่ธาตุนั้นๆ จากนั้นอนุภาคพลังงานสูงเหล่านี้ก็จะพุ่งทะลุลงสู่มหาสมุทรน้ำเค็มอันมืดมิดเบื้องล่างลงไป
นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ทำการทดลองยิงลำอนุภาคอิเล็กตรอนพลังงานสูง ใส่น้ำที่ผสมเกลือชนิดต่างๆในห้องแล็บ เพื่อวัดค่าของแสง ที่เปล่งออกมาจากชิ้นตัวอย่าง และพบว่ามีการเปล่งแสงของตัวอย่างที่เป็นแมกนีเซียมซัลเฟต มากกว่าตัวอย่างที่เป็นเกลือโซเดียมคลอไรด์ และโซเดียมคาร์บอเนต
ความแตกต่างของระดับแสงที่เปล่งออกมาจากเกลือที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การเรืองแสงของดวงจันทร์ยูโรปา เกิดเป็นลวดลายต่างๆบนผิวดวงจันทร์เมื่อมองจากอวกาศระยะไกลแล้วแต่ชนิดของแร่ธาตุที่อยู่ในผิวดวงจันทร์บริเวณนั้นๆจนมีลักษณะคล้ายแผนที่ของแร่ธาตุ หลังจากนี้ทีมงานจะส่งข้อมูลที่ค้นพบให้โครงการ Europa Clipper ที่จะออกเดินทางจากโลกในปี 2025 เพื่อใช้ประโยชน์ในการสังเกตการณ์พื้นผิวในระยะประชิดของดวงจันทร์ดวงนี้ต่อไป
ที่มา https://physicsworld.com/a/jupiters-moon-europa-could-glow-in-the-dark/