การจำศีลคือหนทางที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคนี้ เช่นสัตว์ในตระกูลหมี ค้างคาวบางชนิด หรือตัวลีเมอร์แคระ ใช้ในการเอาชีวิตรอดจากสภาพแวดล้อมที่ทารุณโหดร้ายเช่นการขาดแคลนอาหารในฤดูหนาว แต่จากหลักฐานล่าสุด พบว่าการจำศีลนั้นมีในสัตว์โลกมาเนิ่นนานตั้งแต่ช่วงต้นยุคไทรแอสสิกแล้ว
นักบรรพชีวินวิทยานำโดย ดร. เมแกน วิตนีย์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ ได้พบร่องรอยใน “งา” ที่งอกอยู่ที่ปากของ ลิสโทรซอรัส (Lystrosaurus) สัตว์โบราณซึ่งอยู่ในกลุ่มเธอเลพสิด (therapsids) ในวงศ์เครือญาติกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดลำตัวยาว 2 เมตร ลักษณะคล้ายฮิปโปเเคระที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายยุคเพอร์เมียนติดต่อกับยุคไทรแอสสิกตอนต้น

วงปีในงาของลีสโทรซอรัสนั้น ตามปกติแล้วก็จะขยายออกไปเรื่อยๆตามการเจริญเติบโตของมัน แต่ทีมงานของ ดร. เมแกน พบว่า งาของลีสโทรซอรัสจะมีบางช่วงที่ปรากฏแถบแคบเล็กและมีร่องรอยของความเครียดปรากฏขึ้น นี่คือลักษณะของวงปีในช่วงเวลาที่มีการจำศีล ซึ่งเราจะร่องรอยเช่นนี้ก็มีอยู่ในฟันของสัตว์ยุคปัจจุบันที่จำศีลในบางฤดูกาลของทุกปีด้วยเช่นกัน
“เราคาดว่าลีสโทรซอรัสมีพฤติกรรมนอนจำศีลแบบสัตว์เลือดอุ่นในปัจจุบัน คือจะไม่หลับลึกหรือหลับยาว แต่จะงีบหลับและตื่นขึ้นบ่อยครั้ง รวมทั้งกระตุ้นระบบเผาผลาญให้ฟื้นตัวเป็นช่วง ๆ ตลอดฤดูกาลจำศีลของมัน” หัวหน้าทีมงานอธิบาย
“การค้นพบเบื้องต้นเหล่านี้บ่งชี้ว่าการเข้าสู่สภาวะเหมือนการจำศีลไม่ใช่การปรับตัวที่เป็นของสัตว์ในยุคหลังค่อน แต่เป็นของโบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อนยุคของไดโนเสาร์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม”
ทีมงานคาดว่า ลีสโทรซอรัส ใช้การจำศีลเพื่อให้อยู่รอดจากการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 3 (แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า ลีสโทรซอรัสปรับตัวด้วยวิธีอื่นตามที่เคยมีงานวิจัยมาก่อนหน้านี้ [อ่านบทความ])
อย่างไรก็ตาม เราพบหลักฐานการจำศีลเช่นนี้ ในลีสโทรซอรัสสายพันธุ์ที่อยู่อาศัยบริเวณขั้วโลกเท่านั้น ยังไม่พบในงานของสายพันธุ์ที่อยู่อาศัยในบริเวณอื่น
รายงานการค้นพบครั้งนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Communications Biology
เครดิตภาพและรายละเอียดเพิ่มเติม http://www.sci-news.com/paleontology/lystrosaurus-hibernation-like-state-08794.html
เรียบเรียงโดย @MrVop
_____
M.R. Whitney & C.A. Sidor. 2020. Evidence of torpor in the tusks of Lystrosaurus from the Early Triassic of Antarctica. Commun Biol 3, 471; doi: 10.1038/s42003-020-01207-6