ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดอโปล นครชิคาโก สหรัฐฯ นำโดยศาสตราจารย์เคนชู ชิมาดะ พบปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้โคตรฉลาม “เม็กกาโลดอน” มีร่างกายใหญ่โตมโหฬาร หนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น คือการกินน้องๆของตัวเองขณะที่ยังอยู่ในมดลูกเป็นอาหารจนเหลือเพียงฉลามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเพียงตัวเดียวคลอดออกจากท้องแม่
โดยทั่วไปตัวอ่อนของสัตว์จะมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น Ovoviviparous คือตัวอ่อนเกิดในไข่และใช้ระบบจุนเจือชีวิตจากไข่ เช่นนก สัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ปลาส่วนใหญ่ Viviparous คือตัวอ่อนเกิดเป็นตัวในมดลูก ใช้ระบบจุนเจือชีวิตจากร่างกายแม่ เช่นมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทั้งหมด สุดท้ายคือ Ovoviviparous นั่นคือการเกิดตัวอ่อนผสม ทั้ง 2 แบบเข้าด้วยกัน ตัวอ่อนเกิดในไข่ แต่ฟักเป็นตัวแในมดลูกของแม่ ใช้ระบบจุนเจือทั้งสองอย่างจนร่างกายแข็งแรง ก่อนคลอดออกสู่โลกภายนอก เช่นฉลามเสือทราย ฉลามในอันดับลามิฟอร์มอีกหลายสายพันธุ์ และโคตรฉลาม “เม็กกาโลดอน” ก็จัดอยู่ในลักษณะนี้
ในการเกิดแบบ Ovoviviparous ของฉลามนั้น ตัวอ่อนตัวแรกที่ออกจากไข่ขณะที่อยู่ในมดลูก จะเริ่มกัดกินไข่ฟองอื่น หรือแม้แต่ลูกฉลามตัวอื่นที่เกิดมาทีหลังที่มักจะมีขนาดเล็กกว่า ทำให้ฉลามที่เกิดมาตัวแรกที่ออกจากไข่ก่อนตัวอื่นได้รับสารอาหารจำนวนมากจนมีขนาดร่างกายที่ใหญ่โตเต็มที่ สามารถป้องกันตัวเองได้ทันทีที่คลอดออกจากท้องแม่ กลายเป็นนักล่าในวินาทีแรกที่กำเนิดสู่ท้องทะเล
ทีมงานของศาสตราจารย์ชิมาดะ ยังพบนอกจากปัจจัยเรื่องวิธีการเกิดแล้ว ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้โคตรฉลาม “เม็กกาโลดอน” มีขนาดใหญ่ยักษ์ นั่นคืออัตราการเผาผลาญพลังงานคล้ายกับที่พบในสัตว์เลือดอุ่นขนาดใหญ่ในทะเลนั่นคือวาฬ แต่เป็นการลำบากที่จะค้นคว้าในแง่นี้ เนื่องจากฉลามเป็นสัตว์กระดูกอ่อน เมื่อเวลาผ่านไปหลายล้านปี จึงไม่เหลือร่องรอยเป็นฟอสซิลให้สืบค้นย้อนหลังไปได้ ยกเว้นสิ่งเดียวที่มันทิ้งไว้นั่นคือฟอสซิลของฟันรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ (ดูในภาพประกอบบทความ ด้านซ้ายคือฟันของ โคตรฉลาม “เม็กกาโลดอน” ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 23 ถึง 2.5 ล้านปีที่แล้ว ด้านขวาคือฟันของฉลามขาว ซึ่งถือเป็นฉลามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน)
ปัจจัยอื่นที่สำคัญคืออุณหภูมิของน้ำทะเลในยุคโบราณ และ ปริมาณอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จนทำให้ฉลามที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารเหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยครั้งนี้ในวารสาร Historical Biology
ที่มา https://www.sciencenews.org/article/ancient-megalodon-shark-teeth-cannabilism-womb
เครดิตภาพ MARK KOSTICH/ISTOCK / GETTY IMAGES PLUS
เรียบเรียงโดย @MrVop