อาศัยความสามารถของระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน HATNet ของฮังการี ทีมนักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์แก้สนอกระบบดวงใหม่กำลังโคจรรอบดาวแม่ของตัวเองในระยะประชิด
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงที่พบใหม่นี้ ถูกตั้งชื่อตามธรรมเนียมปฏิบัติว่า “HAT-P-68b” มีลักษณะเป็นดาวเคราะห์แก้สอุณหภูมิสูง มีมวลราว 70% ของดาวพฤหัส แต่มีขนาดใหญ่กว่า คือมีรัศมีกว้างกว่าดาวพฤหัสของเราราว 10%
ดดาวเคราะห์ “HAT-P-68b” โคจรรอบดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบที่เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ของมันในระยะใกล้มาก คือที่ 0.03AU หรือ 3% ของระยะห่างจากโลกเราไปดวงอาทิตย์เท่านั้น ทำให้มันโคจรรอบดาวฤกษ์ครบ 1 รอบในระยะเวลาที่สั้นมาก คือ 2.3 วันเท่านั้น
ดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบ HAT-P-68 นั้น เป็นดาวแคระชนิด K5 เนื่องจากมีขนาดเล็กและมีอุณหภูมิต่ำกว่ารวมทั้งมีอายุมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา นั่นคือมันมีอายุถึง หนึ่งหมื่นหนึ่งพันหนึ่งร้อยล้านปี มีขนาดของรัศมีเพียง 67% และมีมวลเพียง 68% ของดวงอาทิตย์เท่านั้น ตำแหน่งของดาวฤกษ์ดวงนี้นั้นอยู่ก่างจากระบบสุริยะออดไปถึง 662 ปีแสงในทิศทางของหมู่ดาวราศีเมถุน
การพบดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้ถือเป็นข้อยืนยันว่าเราสามารถใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์บนผิวโลกในการค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบได้จริง ไม่ต่างจากการส่งยานอวกาศเพื่อการนี้โดยเฉพาะซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ามาก
ดาวเคราะห์ “HAT-P-68b” เป็นผลงานลำดับที่ 135 ที่พบโดยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ HATNet ของฮังการีนี้
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลการค้นพบครั้งนี้ลงในวารสาร Astronomical Journal
_____
Bethlee M. Lindor et al. 2020. HAT-P-68b: A Transiting Hot Jupiter around a K5 Dwarf Star. AJ, submitted for publication; arXiv: 2010.16026