ทีมนักวิจัยนำโดย Danny Horta จากมหาวิทยาลัย Liverpool John Moores University (LJMU) พบ “ซากฟอสซิล” ของกาแล็กซีโบราณซ่อนตัวอยู่บริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก คาดว่าเป็นผลมาจากการชนกันเมื่อราวหนึ่งหมื่นล้านปีที่แล้ว
ซากกาแล็กซีที่พบนี้มีชื่อเรียกว่า “เฮอร์คิวลีส” (Heracles) ถูกค้นพบโดยใช้ข้อมูลในย่านอินฟราเรดที่รวบรวมโดยอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่มีชื่อเรียกว่า “APOGEE”(Apache Point Observatory Galactic Evolution Experiment) ของ Sloan Digital Sky Survey ซึ่งบันทึกข้อมูลของดาวฤกษ์กว่า 500,000 ดวงในกาแลคซีทางช้างเผือกของเราเอาไว้
ทีมวิจัย LJMU อธิบายเหตุผลที่ต้องใช้ข้อมูลในย่านอินฟราเรดก็เพราะว่าบริเวณใจกลางทางช้างเผือกนั้นเต็มไปด้วยแถบฝุ่นขนาดใหญ่ซึ่งจะบดบังคลื่นแสงในย่านที่ตาเรามองเห็นได้ และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและความเร็วของดาวฤกษ์จำนวนมากที่ได้จากอุปกรณ์ “APOGEE” นี้ ทีมงานสามารถแยกดาวฤกษ์ประจำถิ่นออกจากดาวฤกษ์ต่างถิ่นที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของกาแล็กซีโบราณอย่าง “เฮอร์คิวลีส” ที่ถูกดูดกลืนเข้ามาเมื่อกาแลคซีทั้งสองเข้าชนกัน (ในวงกลมสีแดงจากภาพประกอบบทความ)
จำนวนดาวฤกษ์ที่หลงเหลืออยู่ของ “เฮอร์คิวลีส” มีไม่กี่ร้อยดวง แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีองค์ประกอบทางเคมีและทิศทางการเคลื่อนที่รวมถึงความเร็วที่แตกต่างไปจากดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราเอง
การชนกันและการหลอมรวมตัวกันของกาแล็กซี่ต่างๆไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาหลายครั้ง ที่น่าสนใจก็คือตำแหน่งที่พบซากฟอสซิลของกาแล็กซีเฮอร์คิวลีสนั้นอยู่ใกล้แกนกลางของกาแลคซีทางช้างเผือกของเรามาก แสดงให้เห็นว่ากาแล็กซีทั้ง 2 ชนกันตั้งแต่ช่วงต้นๆเมื่อกาแล็กซีทางช้างเผือกยังมีอายุไม่มาก
ที่สำคัญกว่านั้นนักวิจัยคาดการณ์ว่า มวลของเฮอร์คิวลีสคิดเป็นหนึ่งในสามของมวลของกาแล็กซีทางช้างเผือกทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าการชนกันในสมัยโบราณนั้นรุนแรงมากเมื่อเทียบกับการชนกันอื่นๆในหน้าประวัติศาสตร์ของกาแลคซีเกลียวขนาดใหญ่ที่คล้ายคลึงกันนี้
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Monthly Notices of the Royal Astronomical Society
ที่มาและเครดิตภาพ https://newatlas.com/space/fossil-galaxy-found-heart-milky-way/
เเรียบเรียงโดย @MrVop