คณะนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา นำโดยดอกเตอร์ ไรอัน คาร์นีย์ ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดทำการวิเคราะห์คุณลักษณะต่างๆจากฟอสซิลขนนกอายุ 150 ล้านปี ที่เคยค้นพบจากหินปูนโซล์นฮอเฟน (Solnhofen limestone) ในรัฐบาเยิร์น ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนีเมื่อปี ค.ศ. 1861 และพบเรื่องราวที่น่าสนใจใหม่ๆหลายประการ
ประการแรกและเป็นประการสำคัญที่สุดนั่นคือ ฟอสซิลขนนกที่หลุดออกมาจากร่างกายสัตว์โบราณชิ้นนี้ เป็นของอาร์คีออปเทอริกซ์ สัตว์ร่วมยุคจูราสสิกกับไดโนเสาร์อย่างแน่นอน มันคือขนคลุมปลายปีกส่วนบนหรือ upper major primary coverts (UMPC) หรือส่วนสีดำบนภาพวาดปีกตามรูปประกอบด้านบน ที่ทีมงานทราบจากการนำไปเทียบกับฟอสซิลโครงกระดูกของอาร์คีออปเทอริกซ์อีก 3 โครงที่ยังมีขนส่วนนี้ติดอยู่
ประการต่อมาที่พบหลังการตรวจซ้ำด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ทีมงานพบรายละเอียดว่า ขนนกที่หลุดออกมานี้ เป็นขน UMPC จากปีกด้านซ้าย เพราะมีลักษณะของขั้วที่ยึดติดกับปีกเอียงทำมุมแตกต่างแบบตรงข้ามจากขนคลุมปลายปีกส่วนบนที่พบในปีกด้านขวา นอกจากนี้ยังส่องพบเมลาโนโซมซึ่งเป็นโครงสร้างเม็ดสีในขนนกอายุ 150 ล้านปีนี้ด้วย เมื่อนำไปวิเคราะห์ต่อ ก็พบว่าขนนกจากปีกของอาร์คีออปเทอริกซ์ชิ้นนี้มีความเป็นไปได้ 90% ที่จะมีสีออกไปทางสี “ดำด้าน”
ถือเป็นการยุติข้อถกเถียงที่มีมานานถึง 159 ปีหลังการค้นพบขนนกโบราณที่หลุดออกมาอย่างโดดเดี่ยวชิ้นนี้ว่าเป็นของสายพันธุ์ไหนกันแน่

สายพันธุ์อาร์คีออปเทอริริกซ์ ที่พบเป็นฟอสซิลในหินปูนโซล์นฮอเฟนนี้เป็นสายพันธุ์อาร์คีออปเทอริกซ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ก็ยังถือว่าเล็กหากเทียบกับขนาดของมนุษย์ โดยนกมีฟันตัวแรกของโลกที่ยังมีกระดูกหางยาวไปด้านหลังนี้มีขนาดไม่ต่างจากไก่ในยุคปัจจุบัน สิ่งที่ยังต้องถกเถียงกันไปอีกนานคือประสิทธิภาพการบินของมันว่าอาร์คีออปเทอริกซ์ที่มีขนคล้ายขนนกสมัยใหม่นี้ทำได้แค่ร่อนไปมาใกล้ๆ หรือจะบินได้จริงจังเหมือนนกยุคนี้กันแน่
ทีมงานตีตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยครั้งนี้ในวารสาร Scientific Reports ฉบับวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา
เครดิตรูปภาพ: Carney et al , doi: 10.1038 / s41598-020-65336-y / 10.1038 / ncomms1642 และ จากวิกิพีเดีย
เรียบเรียงโดย @MrVop