องค์การอวกาศยุโรป ส่งดาวเทียมกาลิเลโอ 9-10 จากฐานยิงใน French Guiana ทวีปอเมริกาใต้ ขึ้นสู่วงโคจร
จีพีเอส หรือระบบนำร่องที่เราใช้งานกันในทุุกวันนี้นั้น เป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นตามความต้องการของหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา (US DoD) และเมื่อย้อนกลับไปในปี 1990 การปฏิบัติการของจีพีเอสในยุคนั้นมุ่งเน้นบริการแก่หน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นหลัก ครั้นเมื่อมีสงครามอ่าวฯในช่วงเวลานั้น ทาง US DoD ก็ได้มีการจำกัดสิทธิการใช้งานจีพีเอสขึ้นมา เพื่อผลทางการทหาร ทำให้การใช้งานในทางพลเรือนถูกจำกัดไปด้วย
กลุ่มประเทศผู้นำในสหภาพยุโรปได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนำร่องด้วยดาวเทียมว่าควรนำมาใช้กับพลเรือนโดยเสรี จึงได้มีนโยบายพัฒนาระบบนำร่องของตัวเอง เรียกว่า GNSS (Global Navigation Satellite Systems) โดยแบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสที่ 1 มีชื่อเรียกว่า GNSS-1 หรือ EGNOS (European Geostationary Navigation Overlay Service) สำหรับเฟสที่ 2 มีชื่อเรียกว่า GNSS-2 หรือ กาลิเลโอ Galileo โดยโครงการทั้งสองเฟสอยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมโดย องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA
และในเวลา 09:08 ช่วงเช้าวันนี้ (11 ก.ย.) องค์การอวกาศยุโรปก็ได้ปล่อยจรวดโซยุส นำดาวเทียมในโครงการกาลิเลโอดวงที่ 9 และดวงที่ 10 ขึ้นสู่วงโคจร โดยจรวดทั้ง 3 ท่อนของโซยุสจะยุติการส่งที่ความสูงของวงโคจรระดับล่าง จากนั้นกาลิเลโอจะติดเครื่องยนต์ของตนเองเพื่อปรับระดับเข้าสู่ความสูง 22,522 กิโลเมตร เมื่อไปถึงตำแหน่งที่ต้องการ (3 ชม 47 นาที 57 วินาที หลังออกจากพื้นโลก) ดาวเทียมทั้งสองดวงจะแยกตัวออกจากกันแล้วปรับมุมระหว่างกันเข้าสู่ตำแหน่งใช้งาน
ระบบนำร่องกาลิเลโอเป็นระบบนำร่องสำหรับพลเรือนที่มีศักยภาพเทียบเท่า หรือดีกว่าจีพีเอส ประกอบด้วยดาวเทียม 30 ดวง โคจรใน 3 วงโคจร สามารถให้บริการครอบคลุมทั่วโลกและกว้างถึงแลตติจูด 75 องศาเหนือ ถือเป็นการคานอำนาจกันระหว่างเทคโนโลยีของสองฟากฝั่ง
เรียบเรียงโดย @MrVop
เครดิตภาพและคลิปจาก ESA