ทีมวิจัยจากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของ NASA ตรวจพบโมเลกุลของสารประกอบ ไซโคลโพลพินิลิดีน Cyclopropenylidene (C₃H₂) ในชั้นบรรยากาศของไททัน ดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์
ดร. คอเนอร์นิกสัน นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ หัวหน้าทีมวิจัยนี้กล่าวถึงการพบโมเลกุลของสารประกอบไซโคลโพลพินิลิดีนบนดวงจันทร์ไททันผ่านทางเครื่องมือตรวจหาสเปกโทรสโกปีจากหอสังเกตการณ์ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA) ในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลีนี้ว่า “เป็นเรื่องไม่คาดคิด”

แม้ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เคยพบโมเลกุลนี้ในเมฆก๊าซและกลุ่มฝุ่นในอวกาศ รวมทั้งพบใน interstellar medium (ISM) ตลอดทั้งกาแล็กซี่ทางช้างเผือกมาแล้ว แต่การพบในชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ดวงนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เนื่องจากโมเลกุลของสารประกอบนี้สามารถรวมตัวกับโมเลกุลของสารประกอบอื่นที่พบในชั้นบรรยากาศของไททันได้โดยง่ายและอาจก่อกำเนิดโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตขึ้นมาได้
แต่โมเลกุลของสารประกอบไซโคลโพลพินิลิดีนที่พบในคราวนี้มีปริมาณไม่มากและพบบนยอดเมฆซึ่งมีโอกาสรวมตัวกับสารประกอบอื่นได้ยาก ทีมวิจัยจึงอยากทราบว่าหากโมเลกุลของสารประกอบไซโคลโพลพินิลิดีนนี้ตกลงไปถึงผิวดวงจันทร์ด้านล่างฃึ่งเต็มไปด้วยสารประกอบสำคัญ หรืออาจผ่านลงไปถึงมหาสมุทรใต้ผิวดาว จะเกิดการวมตัวกันขึ้นเป็นโมเลกุลทางชีวภาพแบบเดียวกับโมเลกุลที่ก่อตัวเป็นส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตบนโลกเราหรือไม่
สภาพบนดดวงจันทร์ไททันเวลานี้คล้ายกับโลกของเราช่วง 3.8 ถึง 2.5 พันล้านปีก่อน ซึ่งในเวลานั้นชั้นบรรยากาศของเราเต็มไปด้วยก๊าซมีเทน การเฝ้าดูไททันเวลานี้ก็อาจเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปดูโลกเราเองในยุคเริ่มแรก โดยเฉพาะเมื่อมีการพบโมเลกุลของสารประกอบไซโคลโพลพินิลิดีน C₃H₂ เหมือนในครั้งนี้ ยิ่งทำให้เราอยากรู้ถึงผลการรวมตัวของสารประกอบเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น
ที่มา http://www.sci-news.com/astronomy/cyclopropenylidene-atmosphere-titan-08997.html
เรียบเรียงโดย @MrVop