หลายปีที่ผ่านมาท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังรุมเร้าโลกใบนี้ ได้มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามผลิตเนื้อจากการเพาะเลี้ยงในห้องแล็บที่มีชื่อเรียกว่า เนื้อสัตว์เซลล์เบส ซึ่งมีลักษณะและรสชาติแทบไม่ต่างจากเนื้อสัตว์จริงตามธรรมชาติ ประกอบด้วยเนื้อวัว ไก่ ปลา และล่าสุดกำลังจะมีเนื้อกุ้งตามมา
แนวคิดของการผลิตเนื้อสัตว์เซลล์เบสนั้น ไม่ใช่การเอาพืชมาปลอมเป็นเนื้อ แต่เป็นการใช้เซลล์ของสัตว์จริงมาเพาะเลี้ยงให้เติบโตขยายจำนวนนอกร่างกาย ซึ่งในเวลานี้มีบริษัทราว 24 แห่ง กำลังดำเนินการทางด้านนี้อยู่ นั่นหมายถึงเราจะได้รับประทานเนื้อสัตว์จริงๆโดยไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องไปลดจำนวนสัตว์ตามธรรมชาติ ไม่มีของเสียจากชิ้นส่วนร่างกายสัตว์ที่เราไม่ต้องการเช่นกระดูก เส้นขน เลือด และอาจถือว่าไม่ผิดศีลธรรมสำหรับบางความเชื่อ
ล่าสุดบริษัท Shiok Meats ทดลองผลิตเนื้อกุ้งในห้องแล็บโดยการนำเซลล์ที่ได้จากกุ้งตามธรรมชาติมาเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส ใส่สารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเข้าไป จนเซลล์เหล่านั้นเติบโตขยายจำนวนกลายเป็นเนื้อกุ้งใน 4-6 สัปดาห์

สันธยา ศรีราม (Sandhya Sriram) ผู้บริหารระดับสูงของ Shiok Meats กล่าวว่า ราคาเนื้อกุ้งที่ผลิตในห้องแล็บนี้ค่อนข้างสูง อยู่ที่กิโลกรัมละ 5,000 ดอลลาร์ นั่นทำให้การนำกุ้งเซลล์เบสไปทำอาหารเช่นนำไปทำเกี๊ยวกุ้งเพียงชิ้นเดียว ก็อาจมีราคาสูงถึง 300 ดอลล่าร์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีมนุษย์คนไหนกล้าลงทุน ชิมอาหารที่มีราคาขนาดนี้ ซึ่งทางเราก็จะพยายามวิจัยและพัฒนาต่อไปเพื่อลดราคาของเนื้อกุ้งเซลล์เบส ลงไปให้ได้ถึง 100 เท่า นั่นคือจะทำให้ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่น่าจะรับได้
อย่างไรก็ตาม การนำเนื้อสัตว์จากห้องแลปออกสู่ท้องตลาดย่อมต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานควบคุมของรัฐก่อน
Paul Teng ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่มหาวิทยาลัย Nanyang Technological กล่าวว่า วิธีการใด ๆ ก็ตามที่จะสามารถสร้างโปรตีนจากสัตว์โดยที่ไม่ทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมล้วนเป็นเรื่องที่ดี แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับผลลัพธ์เชิงลบต่าง ๆ ของการสร้างโปรตีนจากเซลล์เหล่านี้