ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร พบหลักฐานว่าสัตว์ขาปล้องที่ครองโลกใต้ทะเลเมื่อสมัย 500 ล้านปีที่แล้วในยุคแคมเบรียน นั่นคือสัตว์ในอันดับ Radiodont ได้พัฒนาการมองเห็นที่ก้าวหน้าขึ้นมา นั่นคือมีดวงตาประกอบที่สลับซับซ้อน บางชนิดสามารถใช้ดวงตามองเห็นได้แม้ในแสงสลัวของน้ำลึก
สัตว์ในลำดับเรดิโอดอน Radiodont มีอยู่หลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีโครงร่างที่คล้ายกัน ซึ่งประกอบด้วยส่วนหัวที่มีอวัยวะขนาดใหญ่จำนวน 2 ระยางค์สำหรับจับเหยื่อ และลำตัวคล้ายกุ้งขนาดใหญ่ มีความยาวโดยทั่วไป 30-50 เซ็นติเมตร ร่างกายค่อยๆวิวัฒนาการจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบ 2 เมตรในช่วงปลายยุค
พวกมันล่าสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าในทะเลยุคนั้นเป็นอาหาร บางสายพันธุ์เช่น “Anomalocaris briggsi” ที่มีขนาดร่างกายยาวได้ราว 1 เมตร ในยุค 515 ล้านปีก่อน (ตามภาพประกอบบทความ) สามารถอยู่อาศัยและมองเห็นเหยื่อได้ชัดเจนแม้ในระดับน้ำทะเลที่ลึกถึง 1,000 เมตรด้วยการที่มีตาประกอบที่รับแสงได้ดีเป็นพิเศษ
“วิวัฒนาการทางด้านการมองเห็นที่ซับซ้อนนี้ กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างผู้ล่าและเหยื่อในการดำรงชีวิต รวมทั้งการแย่งชิงระหว่างผู้ล่าด้วยกันเองด้วย” ศาสตราจารย์ จอห์น แพตเตอร์สัน นักวิจัยจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพของมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ผู้นำงานวิจัยครั้งนี้อธิบาย

ก่อนหน้านี้เคยมีการพบฟอสซิล “Anomalocaris briggsi” จากไซต์ขุดค้นหลายแห่งทั่วโลกทั้งในจีน แคนาดา สหรัฐอเมริกา และที่อื่นๆ แต่ฟอสซิลที่พบนั้นไม่สมบูรณ์ ทำให้เราไม่เคยทราบโครงสร้างเลนส์ตาของสัตว์นักล่าในทะเลลึกจากยุคแคมเบรียนนี้ จนกระทั่งมีการพบฟอสซิลชุดใหม่ที่ชั้นหิน Emu Bay Shale บนเกาะแกงการูของออสเตรเลีย
“ Emu Bay Shale เป็นสถานที่แห่งเดียวในโลกที่พบฟอสซิลส่วนของดวงตาของสัตว์ในอันดับ Radiodont ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีร่างกายใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นเอาไว้อย่างดี จนเราพบรายละเอียดต่างๆอย่างชัดเจน” ดร. ดิเอโกการ์เซีย เบลลิโด นักวิจัยจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยแอดิเลดและพิพิธภัณฑ์เซาท์ออสเตรเลียกล่าวเสริม
จวบจนบัดนี้ ความจริงจึงปรากฏให้เราทราบว่า ตาของสัตว์ขาปล้องที่เกิดก่อนไดโนเสาร์หลายล้านปี เป็นตาประกอบที่มีความซับซ้อน จากจำนวน Fossil 30 ตัวอย่าง เราได้พบขนาดของเบ้าตาเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร ที่ภายในประกอบด้วยเลนส์ย่อยจำนวนมากมาย ซึ่งมีลักษณะขยายขนาดขึ้นบริเวณส่วนกลางเพื่อการรับแสงในสภาพแสงน้อย
ศาสตราจารย์ จอห์น แพตเตอร์สัน กล่าวสรุปว่า “วิสัยทัศน์ในการมองเห็นสภาพแวดล้อมนี้เองกลายเป็นแรงผลักดันในสายวิวัฒนาการและช่วยกำหนดรูปแบบความหลากหลายทางชีวภาพและปฏิสัมพันธ์กับระบบนิเวศที่เราเห็นในปัจจุบัน”
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานลงใในวารสาร Journal Sciences Advances.