พบหนูน้ำ “ราคาลี” (Racali) สัตว์ประจำถื่นออสเตรเลีย สามารถ “ผ่าตัด” เอาตับและหัวใจของคางคกพิษ “Cane toad” ออกมากินเป็นอาหารได้แบบที่สัตว์นักล่าชนิดอื่นไม่อาจทำได้ กลายเป้นพระเอกที่ช่วยลดการระบาดของประชากรคางคกเอเลี่ยนอย่างได้ผล
คางคกพิษ “Cane toad” เป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้าไปยังออสเตรเลียครั้งแรกในปี 1935 เพื่อให้ช่วยกำจัดตัวด้วงที่กัดกินอ้อยในไร่แถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มันปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ง่าย อีกทั้งยังแพร่พันธุ์ได้คราวละมาก ๆ จึงขยายจำนวนจาก 101 ตัวเมื่อ 84 ปีที่แล้ว เป็น 1,500,000 ตัวในเวลานี้
แทบไม่มีสัตว์นักล่าประจำถื่นใดที่สามารถควบคุมปรชากรคางคกพิษชนิดนี้ได้ สัตว์เกือบทุกชิดที่กินคางคกนี้เข้าไปล้วนแล้วแต่ต้องตายเพราะพิษอันร้ายแรง แม้แต่จระเข้ งู หรือตัวเงินตัวทองก็ไม่รอด สุดท้ายสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดได้สูญพันธุ์ไปจากบางพื้นที่ เพราะตายจากการกินคางคกพิษชนิดนี้
เพื่อหลีกเลี่ยงการสญพันธุ์ เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงพยายามฝึกให้สัตว์นักล่าต่าง ๆให้หลีกเลี่ยงการกินคางคก “Cane toad” ด้วยการฝึกให้พวกมันลองกินคางคกขนาดเล็กพิษน้อยๆก่อน ซึ่งจะทำให้พวกมันเข็ด และเรียนรู้ที่จะไม่แตะต้องคางคก “Cane toad” นี้อีก
แต่ก็ยังหาทางควบคุมประชากรคางคกไม่ได้ จนสุดท้ายก็มีแสงสว่างเกิดขึ้น

เครดิตภาพ เฟสบุ๊ค Pamela Gray
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ต่างรู้สึกแปลกใจและทึ่งเมื่อพบว่าหนูน้ำ “ราคาลี” ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถื่นออสเตรเลีย สามารถแก้ปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์พยายามทำมานาน นั่นคือการลดประชากรคางคกพิษ “Cane toad” ที่สร้างความหายนะให้แก่ระบบนิเวศของออสเตรเลียมายาวนาน หนูน้ำสามารถเลือกกินหัวใจและตับของคางคก ซึ่งเป็นอวัยวะเพียง 2 อย่างที่ไม่มีพิษ ด้วยการกัดกินคล้ายการ “ชำแหละ” ที่มีความ “แม่นยำราวกับการผ่าตัด” ของศัลยแพทย์
บางทีก็แถมด้วยการกินขาข้างหนึ่งของคางคก “Cane toad” โดยไม่ลืมที่จะ “ถลกหนัง” ที่เป็นพิษออกไปก่อน
ดร.มาริสซา แพร์รอต หนึ่งในทีมผู้วิจัยเรื่องนี้เล่าว่า เมื่อปี 2014 พวกเขาได้พบซากคางคกอ้อยจำนวนมากที่เห็นได้ชัดเจนว่าไม่ได้ตายตามธรรมชาติ แต่ถูกฆ่าด้วยวิธีแปลก
“ทุกเช้าเราจะพบซากคางคกใหม่ 5 ตัวที่มีร่องรอยถูกผ่าแบบเดียวกันบริเวณท้อง โดยหัวใจและตับของมันหายไป”
สิ่งที่พบทำให้ทีมวิจัยต้องสวมบทนักสืบโดยการติดตั้งกล้องที่บังคับจากระยะไกล รวมทั้งวิเคราะห์รอยกัดที่ปรากฏบนซากคางคก จึงทำให้พวกเขาทราบว่านี่เป็นฝีมือของหนูน้ำ “ราคาลี”
นอกจากนี้ยังพบว่า ราคาลี ชอบกินคางคกขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10 ซม.ขึ้นไป ถ้าตัวใหญ่มากจะกินเฉพาะหัวใจและตับโดยไม่ต้องกินขา
จนบัดนี้ทีมนักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าหนูน้ำ “ราคาลี” ไปเอาวิธีชำแหละคางคกพิษมาจากไหน แต่ก็ถือเป็นผลดีในการลดประชากรเอเลี่ยนนี้
เครดิตภาพประกอบบทความจาก https://www.theguardian.com/
เรียบเรียงโดย @MrVop