ช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวลือตามสื่อต่างๆว่า ดาวเคราะห์น้อย Apophis มีเส้นทางที่เปลี่ยนไป อาจก่อปัญหากับโลกเราในอนาคต บทความนี้จะอธิบายเรื่องเหล่านี้ให้ท่านเข้าใจ
“อาโปฟิส” หรือ 99942 Apophis เป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่มีความกว้างราว 370 เมตร ตั้งชื่อตามเทพเจ้าแห่งความชั่วร้ายของอียิปต์โบราณ มีรูปร่างเป็นงู ผู้ซึ่งพยายามท้าทายอำนาจเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์หรือเทพรา

เคราะห์น้อย Apophis มีเส้นทางโคจรรอบดวงอาทิตย์แบบ “อาเต็น” Aten คือส่วนมากใกล้ดวงอาทิตย์กว่าโลกและมีจุดตัดวงโคจรของโลกสองจุด (ที่ 3 ตามภาพบน) จึงถือเป็นดาวเคราะห์น้อยอันตราย พอๆกับพวกที่มีวงโคจรแบบ อพอลโล Apollo (ที่ 2 ตามภาพบน) ที่ส่วนมากจะอยู่ห่างดวงอาทิตย์กว่าโลกและมีจุดตัดวงโคจรของโลกสองจุด แต่หากเป็นพวก Amor หรือ Atira ก็จะอันตรายน้อยกว่า เนื่องจากไม่มีจุดตัดกับวงโคจรโลกเลย
ข่าวล่าสุดที่กลายเป็นกระแส คือ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย David Tholen ตีพิมพ์รายงานการค้นพบว่า ตรวจเจอผล Yarkovsky effect กับดาวเคราะห์น้อย Apophis ทำให้มันมีความเร็วเพิ่มขึ้น
แล้ว Yarkovsky effect นี่มันคืออะไร
Yarkovsky Effect คือผลของโฟตอนจากดวงอาทิตย์ที่เข้าไปหนุนหรือหักล้างวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย ในกรณีที่ดาวเคราะห์น้อยหมุนรอบตัวเองในทิศทางเดียวกับวงโคจรของมันรอบดวงอาทิตย์ กระแสโฟตอนจะส่งผลให้ความเร็วของมันเพิ่มขึ้นและเอียงออกจากดวงอาทิตย์ แต่หากดาวเคราะห์น้อยหมุนรอบตัวเองในทิศทางตรงข้ามกับวงโคจรของมันรอบดวงอาทิตย์ กระแสโฟตอนจะส่งผลให้ความเร็วของมันลดลงและเอียงเข้าหาจากดวงอาทิตย์
สำหรับดาวเคราะห์น้อยในตระกูล Aten การมีความเร็วเพิ่มจึงถือว่าไม่ดีเพราะวงโคจรจะเอียงออกจากดวงอาทิตย์ ทำให้เพิ่มโอกาสการเข้าชนโลกมากขึ้น

โอกาสชนมีแค่ไหน
David Tholen พบว่าเส้นทางของ Apophis เบี่ยงไปจากเดิม 170 เมตรต่อปี ตัวเลขนี้จะไปอัพเดทตารางเตือนภ้ยตามรูปบน
ตารางเตือนภัยดาวเคราะห์น้อย เป็นผลงานของหน่วยงาน JPL จาก NASA ในนั้นจะมีรายชื่อดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกเรียงลำดับตามค่า Palermo จากมากไปน้อย
ท่านสามารถเข้าไปดูตารางเตือนภัยดาวเคราะห์น้อยได้ตลอดเวลาที่ http://neo.jpl.nasa.gov/risk/#legend
ในตารางนั้นจะมีช่องที่น่าสนใจอยู่หลายช่อง ให้ท่านดูที่ช่อง Palermo ช่องนี้จะแสดงค่าที่คำนวนมาจากตัวแปรที่หลากหลาย หากน้อยกว่า -2 ก็แปลว่าแทบไม่มีโอกาสเข้าปะทะเลย ค่าระหว่าง -2 ถึง 0 แปลว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่น่าห่วงต้องจับตาดูไปตลอด แต่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปในภายหลัง ถ้ามากกว่า 0 คือโอกาสปะทะสูง และจะสูงไปตามตัวเลขที่เป็นบวก
ช่องที่ดูง่ายกว่าคือ Impact probability ความน่าจะเป็นในการเข้าชน
จากตารางที่อัพเดทล่าสุด พบว่าดาวเคราะห์น้อย Apophis อยู่ในอันดับ 3 มันมีค่า Palermo น้อยกว่า -2 และมีค่าความน่าจะเป็นในการเข้าชนที่ 8.9e-6 หรือ 0.00089% ซึ่งน้อยมาก
คำนวนส่วนกลับได้ 99.99911% ที่จะไม่ชน หรือโอกาสชนมีอยู่ที่ 1 ใน 110,000
แล้วถ้าหากชนล่ะ
ขนาด 370 เมตรของ Apophis หากตกถึงพื้นโลกจะก่อรัศมีทำลายหลายร้อยกิโลเมตร เรียกว่าลบบางประเทศให้หายออกจากแผนที่ได้เลย หากลงทะเละเกิดสึนามิขนาดภูเขา ผลที่ตามมาจะเลวร้ายเดินจินตนาการ
เราจะรู้เมื่อไรว่าชนแน่
มีกฏเกณท์หนึ่งในการเฝ้าระวังการเข้าปะทะโลกของดาวเคราะห์น้อยชนิดที่โคจรผ่านซ้ำหลายรอบ นั่นคือให้ดูกว่า หากมีรอบใดที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นโคจรผ่าน “รูกุญแจ” หรือจุดสมมุติที่มีขนาดกว้างยาว 2 เมตรในอวกาศ ณ ตำแหน่งที่คำนวนไว้ในอวกาศรอบโลก แสดงว่ารอบต่อไปรอบใดรอบหนึ่งจะเข้าปะทะโลกแน่นอน
ในเดือนเมษายน 2029 ดาวเคราะห์น้อย Apophis จะโคจรเข้ามาใกลโลกที่จุดสมมุติหรือรูกุญแจที่ว่านี้ หากมันไม่ผ่านรูกุญแจ ก็เบาใจได้ว่าปลอดภัย แต่หากโชคร้ายมันรอดรูกุญแจ เราก็มีเวลาอีก 39 ปี นับจากนั้น กว่าจะถึงปี 2068 ซึ่งจะเป็นปีที่ดาวเคราะห์น้อยเข้าชน เพื่อวางแผนรับมือ
แผนรับมือคืออะไร
NASA และองค์การอวกาศประเทศต่างๆทั่วโลกได้วางแผนการเพื่อหาทาง “เบี่ยงเบน” เส้นทางดาวเคราะห์น้อยมาหลายปีแล้ว ระหว่างนี้ก็มีบางโครงการเช่น AIDA ได้เริ่มเดินหน้าในการทดลองส่งยานพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยดวงเล็กๆเพื่อศึกษาวิถีการเบี่ยงเบนและพลังงานที่ต้องใช้ และหากวิธีที่ว่านี้ไม่ได้ผล ทางสุดท้ายก็คือการอพยพ เพียงแต่การอพยพผู้คนมหาศาลในหลักหลายสิบล้านอาจไม่ง่าย ก็เท่านั้นเอง
****อธิบายภาพ 3 สีด้านบนสุด ภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อย Apophis วันที่ 5-6 มกราคม 2013 จากหอดูดาว Herschel ในยุโรป โดยใช้ความยาวคลื่น 3 ช่วงคือ 70, 100 และ 160 ไมครอน .(Image: © ESA/Herschel/PACS/MACH-11/MPE/B.Altieri (ESAC) and C. Kiss (Konkoly Observatory))
เรียบเรียงโดย @MrVop