ทุกวันนี้มีงานวิจัยจำนวนมากบ่งบอกถึงภัยร้ายที่มาจากฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่มีผลต่อสุขภาพหัวใจ ปอด ดวงตา ไปจนถึงสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ ล่าสุดพบภัยจากมลภาวะส่งผลต่อกระดูกด้วยแล้ว
ทีมนักวิจัยนานาชาติจากสถาบันเพื่อสุขภาพโลกแห่งบาร์เซโลนา (ISGlobal) ของสเปน นำโดยดอกเตอร์ Otavio T. Ranzani พบความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM2.5 และ ผงฝุ่นเขม่าคาร์บอนดำ (Black Carbon) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของฝุ่น PM2.5 ที่มีต่อสภาพกระดูกมนุษย์
การศึกษานี้ เก็บตัวอย่างจากชาวอินเดีย 3,700 คน อายุโดยเฉลี่ย 35.7 ปี ที่อยู่อาศัยใน สถานที่ 23 แห่งโดยรอบเมืองไฮเดอราบัดของอินเดียซึ่งเป็นจุดที่มีมลภาวะทางอากาศเลวร้าย มีปริมาณฝุ่นสูงกว่าระดับปลอดภัยที่องค์การอนามัยกำหนดไว้ถึง 3 เท่า
ทีมงานทำการถ่ายภาพรังสีชนิดพิเศษที่สามารถวัดความหนาแน่นของกระดูกของกลุ่มตัวอย่างออกมาได้ ผลปรากฏว่าในปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกของประชากรทั้งหญิงและชายจะลดลง 0.011 กรัมต่อตารางเซนติเมตรในกระดูกสันหลัง และลดลง 0.004 กรัมต่อตารางเซนติเมตรในกระดูกสะโพก ส่งสัญญาณการมาของโรคกระดูกพรุน (osteoporosis)
ทีมงานยังไม่อาจบอกสาเหตุที่แท้จริงของความสัมพันธ์นี้ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไปลดปริมาณมวลกระดูกได้อย่างไร แต่ก็เคยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2017 ชี้ว่ามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ในเมืองบอสตันของสหรัฐฯ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนถึงกว่า 86,000 รายต่อปี
สำหรับในประเทศไทยเราฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนมีที่มาจากเครื่องยนต์รถที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยฝุ่นออกทางท่อไอเสียและการเผาในที่โล่งแจ้ง การป้องกันตนเองของประชาชนคือการสวมหน้ากากอนามัยระดับ N95 ขึ้นไปเมื่อออกไปอยู่นอกอาคารในวันที่มีข่าวมลภาวะจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่ควรละเลย และภาครัฐควรหาวิธีที่เป็นรูปธรรมในการลดมลภาวะทางอากาศให้ได้ในเร็ววัน
เรียบเรียงโดย @MrVop