ดาวฤกษ์นั้นมีหลากหลายชนิด มีวิธีแบ่งแยกมากมายหลายแบบ หนึ่งในวิธีเหล่านั้นคือการแบ่งดาวฤกษ์ออกเป็นประเภทที่มีหรือไม่มีดาวเคราะห์เป็นบริวาร
และหากดูเฉพาะดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์เป็นบริวารหรือที่เรียกว่าระบบดาว เรายังสามารถแบ่งดาวเคราะห์ในระบบเหล่านั้น ซึ่งมีชื่อเรียกว่า exoplanet ออกได้เป็นชนิดที่มีหรือไม่มีศักยภาพเกื้อหนุนต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต
หลักในการตัดสินก็คือ ดาวเคราะห์ที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยไปจนถึงก่อเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นต้องเป็นดาวเคราะห์หิน และโคจรรอบดาวฤกษ์ในโซนอบอุ่น โกลดิล็อกซ์โซน (Goldilocks Zone) คือไม่โคจรใกล้ดาวฤกษ์จนร้อนเกินไป และไม่โคจรในระยะห่างไกลเกินไปจนหนาวยะเยือก
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ นำโดย ดร. สตีฟ บรายซัน นักดาราศาสตร์ประจำศูนย์วิจัยเอมส์ขององค์การนาซา (ARC) พบวิธีใหม่ในการแยกแยะดาวเคราะห์ที่มีสภาพเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต จากการนำข้อมูลการค้นหาตลอดระยะเวลา 4 ปีของภารกิจเคปเลอร์ ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2009 ถึงเดือน พ.ค. 2013 มาวิเคราะห์ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ล่าสุดเข้ามาช่วยแยกแยะคุณสมบัติดาวเคราะห์เหล่านั้น
ทีมงานพบว่ามีดาวเคราะห์อยู่อย่างน้อยถึง 300 ล้านดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่มีลักษณะเหมาะสมต่อการอยู่รอดไปจนถึงการวิวัฒนาการเผ่าพันธุ์
ทีมงานได้ข้อสรุปที่ว่านี้จากการปรับค่าการวิเคราะห์แสงดาวฤกษ์ให้โปรแกรมค้นหามองในขอบข่ายที่กว้างมากขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนวิธีประเมินว่าดาวเคราะห์ดวงใดอยู่ในเขตอบอุ่นหรืออยู่ในโกลดิล็อกซ์โซน (Goldilocks Zone) โดยใช้รัศมีของดาวเคราะห์และจำนวนอนุภาคของแสง (โฟตอน) ที่ตกกระทบหนึ่งหน่วยพื้นที่ต่อวินาทีเป็นเกณฑ์ นอกจากนี้ยังตีกรอบให้ค้นหาเฉพาะดาวเคราะห์ที่มีมวลระหว่าง 0.5 – 1.5 เท่าของโลก และต้องเป็นบริวารของดาวฤกษ์ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 4,530 – 6,025 องศาเซลเซียสเท่านั้น
แน่นอนว่าดาวเคราะห์จำนวนมากที่พบด้วยวิธีการนี้แม้จะเหมาะสมต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตเพียงใด มนุษย์โลกก็คงหมดหวังในการเดินทางไปเยือนอยู่ดี จากอุปสรรคสำคัญหนึ่งเดียวนั่นคือระยะทาง ที่แม้จะเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ใกล้ที่สุดก็ยังต้องใช้เวลาในการส่งยานอวกาศเดินทางไปหลายหมื่นปี
อ้างอิงและเครดิตภาพ https://www.nasa.gov/feature/ames/kepler-occurrence-rate
เรียบเรียงโดย @MrVop