หนึ่งในปัญหาที่นักอนุรักษ์ต้องพบเจออยู่เสมอคือการขโมยไข่เต่าทะเล และในที่สุดเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติร่วมกับระบบจีพีเอสก็ถูกนำมาช่วยแก้ปัญหานี้
ไข่เต่าปลอมที่มีเปลือกพิมพ์ขึ้นจากเครื่องพิมพ์สามมิตินี้ มีชื่อเรียกว่า InvestEGGator ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนโดย ดร. คิม วิลเลียมส์ – กีเยน นักวิทยาศาสตร์ประจำองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศนิการากัว เปลือกไข่ถูกพิมพ์ขึ้นด้วยพลาสติกสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า NinjaFlex ภายในฟองไข่เต่าปลอมนี้จะติดตั้งระบบ GPS พร้อมแบตเตอรี่จ่ายพลังงาน เมื่อนำไปวางปะปนกับไข่เต่าจริงในหลุมที่แม่เต่าทะเลได้ขึ้นฝั่งมาวางทิ้งไว้ ก็จะดูคล้ายคลึงจนสามารถตบตาหัวขโมยไข่ได้หลายราย

ดร. เฮเลน ฟีซีย์ จากมหาวิทยาลัยเคนต์ของสหราชออาณาจักร ได้ทำการทดลองใช้งานไข่ InvestEGGator นี้ในคอสตาริกา ซึ่งมีปัญหาการขโมยไข่เต่าทะเลสูงมาก ไข่เต่าจากชายหาดบางแห่งของคอสตาริกาถึง 90% จะถูกขโมยไปขายตามตลาดมืดซึ่งได้ราคาสูง
แม่เต่าทะเลจะใช้เวลาราว 20 นาทีช่วงกลางคืนในการวางไข่ด้วยการขุดหลุมฝังไข่ไว้บนหาดทราย ทำให้นักอนุรักษ์มีเวลามากพอในการนำไข่ InvestEGGator นี้ไปวางปะปนกับไข่เต่าจริง ส่วนใหญ่หัวขโมยจะเข้ามาขโมยไข่ในคืนนั้นหรือคืนต่อมา และนำไข่เต่าปลอมซึ่งส่งสัญญาณบอกพิกัดตำแหน่งของมันชั่วโมงละครั้งไปด้วย เมื่อหัวขโมยหลงกลดังกล่าวนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถติดตามแกะรอยหัวขโมยไปจนถึงแหล่งรับซื้อได้ในภายหลัง

จากการทดลองใช้ไข่เต่าปลอมติดจีพีเอส 101 ใบ หลอกล่อคนร้ายที่ชายหาด 4 แห่ง พบว่าในบางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแกะรอยคนร้ายไปได้ไกลจากชายหาดกว่า 130 กิโลเมตร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหลอกหัวขโมยได้ทุกราย ในจำนวนนี้พบคนร้ายงานละเอียดหลายรายที่แยกไข่ปลอมออกจากไข่จริงได้ ก่อนที่ตำรวจจะติดตามไปถึงจุดหมายปลายทาง
ปัญหาการขโมยไข่เต่าทะเลนั้นเกิดขึ้นในชายหาดต่างๆทั่วโลก หากเทคโนโลยี InvestEGGator นี้มีการพัฒนาให้แนบเนียนยิ่งขึ้นและใช้กันกว้างขวางไปตามประเทศต่างๆ ก็อาจช่วยลดปัญหานี้ลงได้
ที่มาและเครดิตภภาพ https://www.smithsonianmag.com/science-nature/3-d-printed-sea-turtle-eggs-reveal-poaching-routes-180975991/
เรียบเรียงโดย @MrVop