ในปี 2564 ยานสํารวจทางธรณีวิทยา InSight ของ NASA ตรวจพบแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 4.1 บนดาวอังคารจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งล่าสุดทีมนักแผ่นดินไหววิทยาจาก มหาวิทยาลัย Bristol นำโดย Anna Horleston ได้เข้ามาวิเคราะห์เฟสของคลื่นและพบว่าแผ่นดินไหวทั้ง 2 ครั้งเกิดที่ด้านไกลของดาวอังคาร ตรงกันข้ามกับตำแหน่งที่ยานอินไซต์จอดอยู่
บนโลกเรานั้น นักแผ่นดินไหววิทยาจะทราบพิกัดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวหรือ epicenter ได้จากวิธี triangulation นั่นคือ ต้องมีสถานีวัดคลื่นแผ่นดินไหวอย่างน้อย 3 สถานี เมื่อทุกสถานีตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวได้ ก็จะใช้ค่าความเร็วคลื่นกับเวลา เพื่อคำนวณหาระยะทาง และนำระยะทางมาขีดเป็นเส้นรัศมี จุดที่เส้นรัศมีจากทั้ง 3 วงกลมตัดกัน ก็คือจุด epicenterหรือจุดเหนือจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้นเอง

แต่สำหรับบนดาวอังคารนั้น NASA ส่งยานสำรวจทางธรณีวิทยาขึ้นไปเพียงลำเดียว ทำให้มีเครื่องมือ Seismic Experiment for Interior Structure (SEIS) เพียงตัวเดียว ดังนั้นแม้ว่าจะวัดคลื่นแผ่นดินไหวได้ ก็เป็นการยากที่จะคำนวณได้ว่าขึ้นแผ่นดินไหวนี้เกิดที่ตำแหน่งใกล้หรือไกลเพียงใด ยากกว่านั้นคือการคำนวณหาพิกัดของ epicenter ให้แน่ชัดลงไปนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีเสียเลย วิธีที่เป็นไปได้คือการวิเคราะห์เฟสของคลื่นแผ่นดินไหว โดยนักแผ่นดินไหววิทยา ชนิดของเฟสจะบอกเราว่า แผ่นดินไหวนั้นนั้นเกิดที่ระยะทางไกลแค่ไหนจากสถานีวัด
** นักแผ่นดินไหววิทยาจะวัดระยะทางเป็นองศา ไม่ใช่กิโลเมตร สำหรับบนโลกเรา 1 องศาเท่ากับประมาณ 111 กิโลเมตร (40075÷360) และบนดาวอังคาร 1 องศาเท่ากับประมาณ 59 กิโลเมตร (21344÷360)

ตลอด 3 ปีนับตั้งแต่ยานอินไซต์ (InSight) ลงจอด จนถึงเดือนตุลาคม 2564 อุปกรณ์ของยางสามารถตรวจพบแผ่นดินไหวบนดาวอังคารรวมทั้งสิ้น 951 ครั้ง ทุกครั้งวัดคลื่นแผ่นดินไหวได้เป็นทั้งคลื่น ZP และคลื่น S และมีระยะห่างจากยาน InSight ไม่เกิน 100°
ในจำนวนนี้ เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดเพียง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกตรวจวัดได้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ตั้งชื่อว่าเหตุการณ์ S0976a วัดขนาดได้ 4.2 วัดระยะทางได้ 146° ± 7° แต่เฟสของคลื่นแผ่นดินไหวที่ตรวจพบ ทางทีมงานวิเคราะห์แล้วพบว่าไม่ใช่เฟส P หรือ S แต่เป็นเฟส PP และ SS การที่วัดเฟส P และ S แบบตรงๆไม่ได้ ก็ย่อมหมายถึงเราพบ Shadow zone ของดาวอังคารเข้าให้แล้ว
(Shadow zone คือบริเวณที่คลื่นแผ่นดินไหวชนิด body นั่นคือคลื่นเฟส P และ S ไม่สามารถเคลื่อนผ่านแกนกลางดาวได้ สำหรับโลกเรานั้น Shadow zone ของเฟส P เริ่มที่ 104° จบที่ 140° ส่วน Shadow zone ของเฟส S เริ่มที่ 104° เป็นต้นไป)
ครั้งที่ 2 ตรวจวัดได้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ตั้งชื่อว่าเหตุการณ์ S0976a วัดขนาดได้ 4.1 วัดระยะห่างได้ในช่วง 107° ถึง 147° ตั้งชื่อว่าเหตุการณ์ S1000a ทางทีมงานตรวจไม่พบคลื่นแผ่นดินไหวเฟส P และ S เช่นเดียวกัน และในครั้งนี้นอกจากพบเฟส PP เฟส SS แล้ว ทีมงานยังพบเฟส Pdiff ซึ่งเป็นคลื่น P ที่ถูกหักเหจาก core–mantle boundary (CMB) ตรงแก่นดาวอังคารด้วย
ท้้ง 2 เหตุการณ์ทำให้เราทราบว่าโครงสร้างภายในดาวอังคารมีความคล้ายคลึงกับโลกเราจนส่งให้เกิดเฟสของคลื่นแผ่นดินไหวคล้ายกัน และมี Shadow zone ในช่วงที่อาจกว้างกว่า 107° ถึง 153°
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานครั้งนี้ลงในวารสาร The Seismic Record
เครดิตภาพ http://www.sci-. news.com/space/far-side-marsquakes-10749.html