องค์การอวกาศจีนเตรียมส่งยานอวกาศรวมทั้งสิ้น 6 เที่ยวบิน เพื่อเร่งประกอบร่างสถานีอวกาศแห่งชาติ”เทียนกง” ให้สำเร็จก่อนสิ้นปีนี้ (2565)
เปิดฉากด้วยยานขนส่งไร้มนุษย์ในภารกิจ “เทียนโจว-4” (天舟) ที่จะออกเดินทางก่อนเพื่อนในเดือนพฤษภาคม เพื่อเตรียมอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงอาหารเชื้อเพลิงและสิ่งที่ต้องการใช้ให้กับภารกิจที่จะติดตามมาภายหลัง
ในเดือนมิถุนายนจะมีการส่งนักบินอวกาศ 3 นายในภารกิจ “เสินโจว-14” (神舟) ขึ้นไปประจำการในโมดูล “เทียนเหอ” (天和) ตลอดระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นทีมกำกัการต่อเติมโมดุลของสถานีอวกาศเทียนกงในภายหลัง
เดือนกรกฏาคม ก็ถึงเวลาส่งโมดูลเหวิ่นเทียน (问天) ขึ้นไปเชื่อมต่อกับโมดูลเทียนเหอ (天和 ) โดยจะเชื่อมต่อทางด้านหน้าก่อน จากนั้นจะใช้แขนกลยาว 10 เมตรจับย้ายไปต่อเขื่อมที่ด้านข้าง โมดูลเหวิ่นเทียนนี้จะติดตั้งแขนกลขนาดเล็กของตัวเองเอาไว้อีก 1 ข้าง รวมทั้งมีแอร์ล็อค สำหรับใช้เป็นทางเข้าออกของนักบินอวกาศขณะจะไปทำ spacewalk ด้วย

เว้นไป 2 เดือน พอถึงเดือนตุลาคม โมดูลสุดท้ายนั่นคือโมดูลเมิ่งเทียน (梦天) ก็จะถูกส่งขึ้นไปเชื่อมต่อกับโมดูลเทียนเหอ (天和 ) โดยจะเชื่อมต่อทางด้านหน้าก่อนเช่นเดียวกัน จากนั้นจะใช้แขนกลจับย้ายไปต่อเขื่อมที่ด้านข้าง ทำให้รูปร่างของสถานีอวกาศเทียนกง กลายเป็นรูปอักษร T ในที่สุด และถือเป็นอันเสร็จสมบูรณ์
หลังจากประกอบสถานีอวกาศเทียนกงเสร็จเรียบร้อย ก็จะเหลืออีก 2 ภารกิจนั่นคือการเติมเชื้อเพลิง เสบียง น้ำ อากาศ และอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์อื่นด้วยยานขนส่งไร้มนุษย์ในภารกิจ “เทียนโจว-5” (天舟) จากนั้นก็ปิดท้ายปีด้วยการส่งทีมนักบินอวกาศอีก 3 นายในภารกิจ “เสินโจว-15” ขึ้นไปสมทบกับทีมเดิม ถ้าทุกอย่างไม่มีปัญหาก็จะเป็นครั้งแรกที่สถานีอวกาศจีนจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ถึง 6 นายในเวลาเดียวกัน
แผนการต่อไปหลังการก่อสร้างสถานีอวกาศเทียนกง ก็คือการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศซุ่นเทียน (巡天)ขึ้นสู่วงโคจร ทางจีนคุยว่ากล้องนี้สามารถมองเห็นได้กว้างกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถึง 300 เท่า โดยยังคงความละเอียดที่ใกล้เคียงกัน โดย างจีนจะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ในการสำรวจสสารมืดและพลังงานมืด ไปจนถึงการก่อตัวกาแลคซี และวิวัฒนาการตั้งแต่เริ่มการก่อตัวของจักรวาล