อุณหภูมิ (Temperature) คือสิ่งที่บ่งบอกว่าอนุภาคเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าใด ในขณะที่ความร้อน (Heat) นั้นคือความสามารถในการถ่ายทอดพลังงานของอนุภาค ในอวกาศระหว่างกาแล็กซีซึ่งเป็นบริเวณว่างเปล่าที่แทบจะไม่มีอนุภาคของสิ่งใดๆอยู่ และอยู่ไกลจากการแผ่รังสีของดาวฤกษ์ ก็จะเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำมาก นั่นคือ 2.7 เคลวิน หรือ ลบ 270.45 องศาเซลเซียส นั่นคือสูงกว่าอุณหภูมิศูนย์องศาสมบูรณ์เพียงเล็กน้อย อุณหภูมินี้มีที่มาจากพลังงานสุดท้ายที่หลงเหลือจากบิ๊กแบง หรือที่เรียกว่า cosmic background radiation
แต่ถ้าจำกัดขอบเขตเอาไว้แค่ในระบบสุริยะทีมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางคอยแผ่รังสีความร้อน อุณหภูมิของอวกาศในระบบสุริยะก็จะสูงกว่าอวกาศระหว่างดาวฤกษ์หรืออวกาศระหว่างกาแล็กซี โดยอุณหภูมิในระบบสุริยะจะค่อยๆลดลงตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์
บริเวณพื้นผิวดาวพลูโต ซึ่งถือเป็นดาวเคราะห์แคระที่ไกลจากดวงอาทิตย์กว่าดาวเคราะห์ทั้งปวง จะมีอุณหภูมิผิวดาวประมาณลบ 232 องศาเซลเซียส หรือ 41.15 เคลวิน แต่คุณจะแปลกใจถ้ารู้ว่ามีบริเวณที่เย็นกว่าดาวพลูโตอยู่ใกล้โลกมากๆ แค่ดวงจันทร์ของเรานี่เอง
ดวงจันทร์ไม่มีอากาศห่อหุ้มเหมือนโลก จึงรับความร้อนได้วิธีเดียวจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ งานวิจัยล่าสุดของแพททริค โอไบรอันและทีมงาน ยืนยันข้อมูลที่ได้จากยานอวกาศ LRO ที่บ่งบอกว่า ก้นหลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ซึ่งนอกจากอยู่ในเงามืดของส่วนโค้งของตัวดวงจันทร์เองแล้ว ยังอยู่ในเงามืดถาวรของปากหลุมที่บังแสงอาทิตย์มานานหลายพันล้านปี เงามืด 2 ชั้นนี้ทำให้มันเป็นจุดที่เย็นที่สุดในระบบสุริยะ
ทีมงานของไอไบรอันประมาณการอุณหภูมิที่ก้นหลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วของดวงจันทร์เอาไว้ที่ประมาณ 25 เคลวิน ชนะผิวดาวพลูโตขาดลอย
อย่างไรก็ตาม บริเวณก้นหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์อาจยังไม่เย็นเท่าเมฆออร์ต ซึ่งก็คือกลุ่มฝุ่นน้ำแข็งที่ห่อหุ้มระบบสุริยะของเราเอาไว้ ตามข้อมูลจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นในรัฐอิลลินอยส์ อุณหภูมิของเมฆออร์ตอาจต่ำถึง 5 เคลวินเท่านั้น ถือว่าเย็นกว่าก้นหลุมอุกกาบาตบนดวงมาก แต่ต้องขึ้นกับเงื่อนไขที่ยังต้องตกลงกันอีกว่า เราจะนับ “เมฆออร์ต” ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุริยะรึเปล่า