ในที่สุด ขั้นตอนอันละเอียดอ่อนในการปรับมุมของกระจกเคลือบทองคำทั้ง 18 แผ่นของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ ก็เสร็จสิ้นไปด้วยดี ทาง NASA ได้แถลงผ่านสื่อเมื่อวานนี้ (16 มีนาคม 65) พร้อมทั้งแสดงภาพของดาวฤกษ์เป้าหมาย ที่ใช้ในการปรับตั้งกระจกมาให้ชม
ดาวฤกษ์ดวงนี้มีชื่อว่า HD 84406 อยู่ห่างโลกออกไป 258.5 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) เมื่อมองจากโลกจะอยู่ที่พิกัดไรต์แอสเซนชัน 09h 47m 30.55 และเดคลิเนชัน +63° 14′ 52.09″

ดาวฤกษ์ HD 84406 เป็นดาวฤกษ์ประเภท G ความสว่างปรากฏที่แมกนิจูด 6.4 นั่นหมายถึงว่า เมื่อมอวจากโลก แสงดาวฤกษ์ดวงนี้จะจางจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (ความสว่างน้อยสุดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือ 6.0)





ในที่สุด กระจกสะท้อนแสงปฐมภูมิ ทั้ง 18 แผ่น ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ ที่มีขนาดจากด้านถึงด้าน 6.5 เมตร ก็เชื่อมกันแนบสนิทจนกลายเป็นกระจกแผ่นใหญ่แผ่นเดียว ( ที่ต้องทำแบบนี้เพราะเราขนส่งกระจกขนาดใหญ่เท่านี้แผ่นเดียวจากผิวโลกไปทางจรวดไม่ได้)
เป้าหมายที่แท้จริงของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ไม่ใช่ดาวฤกษ์แบบ HD 84406 แต่สาเหตุที่ดาวฤกษ์ดวงนี้ถูกเลือกขึ้นมาก็เพราะความสว่างและตำแหน่งของมันค่อนข้างเหมาะสมกว่าดาวฤกษ์ดวงอื่นในการจะใช้เป็นเป้าหมายปรับตั้งกระจก
เป้าหมายของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ คือการมองลึกเข้าไปในกาแล็กซี่ต่างๆที่เราเห็นในฉากหลังของดาวฤกษ์เป้าหมายตามภาพด้านบน เมื่อใช้งานจริง กล้องโทรทรรศน์อวกาศราคาหมื่นล้านดอลลาร์นี้จะสามารถซูมเข้าไปจนเห็นรายละเอียดต่างๆของกาแล็กซี่ที่อยู่ไกลแสนไกลจนถึงขอบจักรวาลได้อย่างไร้ปัญหา ซึ่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์มีความก้าวหน้ากว่ากล้องรุ่นเก่าอย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลหลายเท่า
จากนี้ไป ยังต้องมีการปรับตั้งเครื่องมืออื่นๆอีกหลายชิ้น ส่วนพวกเราก็เพียงแต่รอคอยภาพที่จะเห็นเมื่อถึงวันใช้งานจริงของกล้องตัวนี้