04:20 ของ เช้าวันที่ 12 มีนาคม 65 ตามเวลาในประเทศไทย หรือ 21:20 ของวันที่ 11 มีนาคมตามเวลามาตรฐานสากล ดาวเคราะห์น้อย 2022 EB5 พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก
ปกติแล้วดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กเดินทางเข้าชนโลกตลอดเวลาและส่วนใหญ่ตกลงในมหาสมุทรที่มีปริมาณพื้นที่มากกว่า 70% ของผิวโลก แต่คราวนี้มีความพิเศษเนื่องจากนักดาราศาสตร์สามารถส่องพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ก่อนเข้าสู่บรรยากาศโลกก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง และถือเป็นดวงที่ 5 ที่ ส่องพบในลักษณะนี้
ผู้ที่ส่องพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้คือนักดาราศาสตร์ชื้อ Krisztián Sárneczky จากหอสังเกตการณ์ Sárneczky ในประเทศฮังการี โดยเขาเริ่มเห็นมันในกล้องดูดาวเมื่อ 02:24 ตามเวลาในประเทศไทย ของเช้าวันที่ 12 มีนาคม
จากนั้นอีก 2 ชั่วโมงต่อมา นั่นคือ 04:22 ดาวเคราะห์น้อย 2022 EB5 ซึ่งมีขนาดราวๆ 2 เมตร ก็เคลื่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกบริเวณเหนือมหาสมุทรอาร์กติก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ Jan Mayen ของนอร์เวย์ ด้วยความเร็วเข้าประมาณ 18 กิโลเมตรต่อวินาที
ไม่นานหลังจากนั้น เครื่องมือตรวจวัดเสียงความถี่ต่ำหรือ Infrasound ในกรีนแลนด์และนอร์เวย์ก็ตรวจจับเสียงระเบิดได้ คาดว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เกิดแตกตัวบนท้องฟ้าก่อนตกลงถึงผิวน้ำในมหาสมุทร
ทีมงานคำนวณพลังงานจากการระเบิดครั้งนี้ได้ประมาณเท่ากับระเบิด TNT ขนาด 2,000 ตัน
ดาวเคราะห์น้อยที่ ถูกต้องครบก่อนเข้าสู่บรรยากาศโลกก่อนหน้านี้ 4 ดวงได้แก่
- ดาวเคราะห์น้อย 2008 TC3 ขนาด 4 เมตร มีพลังงานเท่ากับระเบิด TNT ขนาด 2,100 ตัน
- ดาวเคราะห์น้อย 2014 AA ขนาด 3 เมตร มีพลังงานเท่ากับระเบิด TNT ขนาด 1,000 ตัน
- ดาวเคราะห์น้อย 2018 LA ขนาด 3 เมตร มีพลังงานเท่ากับระเบิด TNT ขนาด 400 ตัน
- ดาวเคราะห์น้อย 2019 MO ขนาด 6 เมตร มีพลังงานเท่ากับระเบิด TNT ขนาด 6,000 ตัน
ดาวเคราะห์น้อยในลักษณะนี้ทั้ง 5 ดวงล้วนแล้วแต่ระเบิดในบรรยากาศโลกก่อนตกถึงพื้น บุคคลที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงมากจะเห็นเป็นลูกไฟสว่างอยู่บนฟ้า
หมายเหตุ ภาพลูกไฟประกอบบทความไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยดวงที่พูดถึงในนี้ แต่เป็นตัวอย่างภาพของ ดาวเคราะห์น้อยที่ตกลงสู่อ่าวซานฟรานซิสโกเมื่อ 17 ตุลาคม 2555 เครดิต NASA/Robert P. Moreno Jr