ดวงจันทร์ที่น่าไปสำรวจที่สุดในระบบสุริยะมี 3 ดวง เนื่องจากมีโอกาสพบชีวิตต่างพิภพมากกว่าใคร ดวงแรกคือยูโรปาของดาวพฤหัส ถัดไปคือดวงจันทร์ไททันและเอนเซลาดัสของดาวเสาร์ ยูโรปามีภาษีดีกว่าเพื่อนตรงที่มีระยะใกล้กว่ากันมาก ล่าสุด มีรายงานว่าทางทีมวิศวกรของ NASA ได้เริ่มลงมือประกอบยานสำรวจยูโรปา คลิปเปอร์ (Europa Clipper) แล้ว
ตามแผนที่วางไว้นั้น ยานยูโรปา คลิปเปอร์ จะโคจรรอบดาวพฤหัสทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ตัวยานสามารถ เข้าใกล้ดวงจันทร์เป้าหมายคือยูโรปาได้บ่อยที่สุด
ในเบื้องต้น ยานยูโรปา คลิปเปอร์ จะโคจรผ่านดวงจันทร์ยูโรปาทั้งสิ้น 45 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะอยู่ห่างจากผิวดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 25 กิโลเมตร ไปจนถึง 2,700 กิโลเมตร ระหว่างที่เข้าใกล้ก็จะทำการถ่ายภาพด้วยกล้องความละเอียดสูง และใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบองค์ประกอบ รวมทั้งโครงสร้างของผิวที่เป็นน้ำแข็งของดวงจันทร์ดวงนี้
เมื่อประกอบเสร็จเรียบร้อย ยานยูโรปา คลิปเปอร์ จะมีขนาดพอๆกับรถ SUV และเมื่อติดตั้งแผงเซลล์สุริยะทั้ง 2 ด้านเข้าไป ก็จะกว้างพอพอๆกับสนามบาสเกตบอล

การประกอบยานลำนี้ดำเนินไปในห้องที่ควบคุมความสะอาดอย่างยิ่งยวดของ JPL ในแคลิฟอร์เนีย และทีมงานคาดหมายว่า ฮาร์ดแวร์การบินส่วนใหญ่จะเสร็จเรียบร้อยก่อนสิ้นปีนี้ ทั้งนี้รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์อันละเอียดอ่อน 9 ชนิดด้วย
ส่วนแกนหลักของยานยูโรปา คลิปเปอร์ ซึ่งเป็นโมดูลขับเคลื่อนขนาดยักษ์สูง 3 เมตร ออกแบบและสร้างโดย Johns Hopkins Applied Physics Laboratory (APL) ในเมืองลอเรล รัฐแมริแลนด์ จะประกอบเข้ากับโมดูลที่ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วิทยุ สายเคเบิล และระบบย่อยในการขับเคลื่อน ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนจะมีการทยอยส่งไปที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อประกอบเข้าด้วยกัน โดยจะทยอยส่งเข้าไปในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ ทั้งนี้รวมถึงเสาอากาศกำลังขยายสูง ที่มีความยาวถึง 3 เมตรด้วย
ทีมงานทุกคนตั้งแต่ Jan Chodas ผู้จัดการโครงการไปถึงเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนของยูโรปา คลิปเปอร์ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันถึงความตื่นเต้นที่ได้เห็นสิ่งที่พวกเขาเฝ้าคอยมานานเริ่มปรากฎเป็นรูปเป็นร่างทีละน้อยๆ และนี่คือยานสำรวจดวงจันทร์ต่างภพลำแรกของ NASA ที่จะได้ออกเดินทางไปไขความลับให้เรารู้ว่า ยังมีที่ไหนที่เอื้ออำนวยต่อการก่อเกิดชีวิตในระบบสุริยะของเราบ้าง นอกจากดาวบ้านเกิดของเราดวงนี้