นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตันของสหรัฐฯ รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ดร. จูเลียน เชปเพิร์ด ได้เฝ้าติดตามชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์ขนาดเล็กชนิดหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2519 และพบความน่าทึ่งของมันนั่นคือมีสภาพร่างกายที่ทนทายาด เกินกว่าสัตว์ใดๆ ยกเว้นหมีน้ำ (tardigrades)
สิ่งมีชีวิตที่ว่านี้คือเห็บแอฟริกาตะวันออก (Argas brumpti) ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเห็บเพศเมียจำนวน 6 ตัว และเห็บเพศผู้อีก 4 ตัว ทั้งหมดรวบรวมมาจากถ้ำใกล้ Nairobi ประเทศเคนยา และเลี้ยงเอาไว้ในแลปโดยให้อาหารเป็นเลือดของหนูและกระต่ายเพื่อเฝ้าติดตามพวกมันมาเป็นระยะเวลานานถึง 45 ปี
ดร. จูเลียน เชปเพิร์ด พบว่าเห็บชนิดนี้มีอายุยืนเกินเห็บทั่วไปนับสิบเท่า โดยมันสามารถปรับตัวให้ทนทานต่อภาวะขาดน้ำและอาหารได้เป็นเวลานานมากอย่างไม่น่าเชื่อ เห็บในห้องแล็บบางตัวมีชีวิตอยู่ได้สูงสุดถึง 8 ปี โดยไม่ต้องกินอาหารเลย

เห็บแอฟริกาตะวันออกมีลำตัวยาวประมาณ 20 มิลลิเมตร ผิวหนังที่อ่อนนุ่มและเหนียว ไม่เหมือนเปลือกแข็งที่พบในเห็บประเภททั่วไป ไม่เคยมีรายงานว่ามันเป็นพาหะของโรคใดๆ แม้ว่าการกัดของมันจะสามารถทำให้เกิดแผลที่เจ็บปวดค่อนข้างมาก แถมความปวดยังคงอยู่นานหลายเดือนกฌตาม
“เห็บเหล่านี้อายุยืนมาก บางตัวมีชีวิตอยู่ถึงเกือบ 30 ปี ต่างจากเห็บทั่วไปที่มีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 2-3 ปีเท่านั้น จัดว่าอายุยืนที่สุดในบรรดาเห็บด้วยกัน” ดร. เชปเพิร์ดกล่าว
เห็บแอฟริกาตะวันออก (Argas brumpti) ในห้องแล็บของดร. จูเลียน เชปเพิร์ด นี้ ถูกจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งมีอุณหภูมิคงที่ 21 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 81% ซึ่งจัดว่าค่อนข้างแห้ง แต่พวกมันก็สามารถมีชีวิตรอดและออกลูกออกหลานสืบต่อมาอีกหลายรุ่น
“เห็บตัวเมียบางตัวยังสามารถวางไข่ได้ หลังตัวผู้ตัวสุดท้ายในกลุ่มตายไปแล้วถึง 4 ปี ถือว่าน่าอัศจรรย์มากที่เก็บน้ำเชื้อของตัวผู้เอาไว้ได้นานขนาดนั้น” ดร. จูเลียน เชปเพิร์ด กล่าวเสริม
เห็บแอฟริกาตะวันออก (Argas brumpti) นี้กำลังถูกนำไปถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อให้ทราบถึงกลไกที่ทำให้พวกมันมีสภาพร่างกายที่ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ความรู้ที่ได้อาจสามารถนำมาประยุกต์เพื่อใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งและสุขภาพที่ดีให้แก่มนุษย์เราในอนาคต
รายละเอียดเพิ่มเติมใน https://entomologytoday.org/2022/01/14/keep-ticking-argas-brumpti-ticks-longevity-27-year-lifespan/