“จินนี” (Ginny) ซึ่งเป็นชื่อเล่นของ “อินจานูอิที” (Ingenuity) อากาศยานลำแรกของมวลมนุษยชาติที่ไปบินอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่น ในรูปแบบของเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก มาถึงบัดนี้ มันสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นานถึง 4 เท่าของอายุงานที่ได้คาดหมายเอาไว้แต่แรก
เฮลิคอปเตอร์ขนากเล็กจิ๋วน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัมลำนี้ เดินทางถึงดาวอังคารพร้อมโรเวอร์ Perseverance ใน 18 กุมภาพันธ์ 2564 ขึ้นบินครั้งแรกในวันที่ 19 เมษายน 2564 ตามเวลาไทย NASA ตั้งความหวังว่า “จินนี” (Ginny) น่าจะมีอายุใช้งานเบื้องต้นเพียง 5 เที่ยวบิน แต่ใครจะรู้ว่า มันจะทนทานยาวนานจนสามารถขึ้นบินเที่ยวที่ 20 ได้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา
ตามข้อมูลที่หน่วยงานJPL ของ NASA ทวิตเอาไว้เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในการบินครั้งที่ 20 นี้ “จินนี” (Ginny) สามารถบินได้ไกล 391 เมตร ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 130.3 วินาที ทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 4.4 เมตรต่อวินาที
“จินนี” (Ginny) ติดตั้งใบพัดคาร์บอนไฟเบอร์ จำนวน 4 ใบ เรียงกันเป็น 2 ชั้นบนล่างชั้นละ 2 ใบพัด ใบพัดทั้ง 2 ชั้นจะหมุนในทิศทางตรงกันข้ามกันที่ความเร็วประมาณ 2,400 รอบต่อนาที – เร็วกว่าเฮลิคอปเตอร์โดยทั่วไปที่บินบนโลกเรา เพื่อสร้างแรงยกในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารที่เบาบางมาก และเนื่องจากมันมีขาเป็นสปริง จึงไม่เกิดความเสียหายหากตกลงมาตามแนวตั้ง นอกจากนี้ “จินนี” (Ginny) ยังทำงานด้วยไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งชาร์จใหม่ได้เรื่อยๆ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้มันมีอายุใช้งานได้ยาวนาน NASA น่าจะใช้งานจนเฮลิคอปเตอร์จิ๋วลำนี้หมดสภาพ ซึ่งคงต้องคอยดูกันว่าจะบินได้ทั้งสิ้นกี่เที่ยวบิน