ดาวหาง C/2014 UN 271 “เบนาดีเนลลี-เบิร์นสไตน์” ดาวหางคาบยาวที่เดินทางไกลมาจากบริเวณชายขอบของระบบสุริยะในโซนที่เรียกว่า “กลุ่มเมฆออร์ต” เวลานี้ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่า เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ทำลายทุกสถิติเท่าที่เคยมีการบันทึกมา
ผู้พบดาวหางดวงนี้คือนักดาราศาสตร์ 2 คน ได้แก่ เปโตร เบนาดีเนลลี (Pedro Bernardinelli) นักวิชาการดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และ แกรี เบิร์นสไตน์ (Gary Bernstein) นักจักรวาลวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระหว่างที่ทั้งคู่กำลังวิเคราะห์ภาพถ่ายสสารมืดในปี 2557 และได้สังเกตเห็นจุดเล็กๆจุดหนึ่งกำลังเคลื่อนที่ไประหว่างกลุ่มดาวต่างๆในฉากหลัง แต่หลังจากได้ลงมือสังเกตเพิ่มเติม ก็พบว่าจุดดังกล่าวน่าจะเป็นดาวหางที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีวงโคจรเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์ไกลนับปีแสง นั่นคือวงโคจรครบหนึ่งรอบของมันใช้เวลานานถึง 5 ล้าน 5 แสนปี
ดาวหางเบนาดีเนลลี-เบิร์นสไตน์ อยู่ในความสนใจของนักดาราศาสตร์ตลอดมา จนเมื่อล่าสุดทีมงานนักดาราศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ Observatoire de Paris นำโดย เอ็มมานูเอล เลลลอช (Emmanuel Lellouch) อาศัยภาพถ่ายจากเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Atacama Large Millimeter Array ในอเมริกาใต้ ที่ได้ถ่ายไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 เมื่อดาวหางอยู่ห่างออกไป 19.6 AU (AU คือระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ มีค่าประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร) เพื่อศึกษารังสีไมโครเวฟที่ปล่อยออกมาจากดาวหางดวงนี้ จนทีมงานสามารถ คำนวณความยาวคลื่นเพื่อหาขนาดของดาวหางได้สำเร็จ และพบว่าดาวหางดวงนี้มีขนาดใหญ่ถึง 137 กิโลเมตร ทุบสถิติดาวหางที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ เท่าที่เคยมีการบันทึกข้อมูลกันมา
ดาวหางยักษ์ดวงนี้กำลังเคลื่อนที่เข้ามาในระบบสุริยะโดยจะเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปี 2574 แต่ก็ยังนับว่าไกลจากโลกมากอยู่ดีเนื่องจาก จุดที่ใกล้ที่สุดยังคงอยู่นอกวงโคจรของดาวเสาร์ แต่อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องมือต่างๆเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมได้
ทีมงานตีพิมพ์ผลการวิจัยครั้งนี้ลงในวารสาร Astronomy and Astrophysics Letters