เจมส์ เว็บบ์คือกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในเวลานี้ และแม้ว่ามันยังไม่พร้อมใช้งานจริง ยังอยู่ในช่วงปรับตั้งส่วนละเอียดอ่อนทั้งหลายของอุปกรณ์ แต่ก็พร้อมที่จะส่งภาพถ่ายดาวภาพแรกมาให้เราชมกัน โดยทาง NASA ก็ได้ออกตัวไว้ก่อนแล้วว่าอย่าเพิ่งคาดหวังกับคุณภาพของภาพถ่ายนี้นัก
NASA จะเปิดภาพถ่ายแรกจากกกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ ให้ชม 22:30 คืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย ทางทีมงานผู้ควบคุมอธิบายว่าภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตั้งกระจกปฐมภูมิซึ่งแยกย่อยออกเป็นกระจกเคลือบทองคำทรงหกเหลี่ยมจำนวน 18 บาน เพื่อให้รวมเป็นโฟกัสเดียวในการสะท้อนคลื่นอินฟราเรดจากดวงดาวเป้าหมายอันห่างไกลไปสู่กระจกทุติยภูมิ แล้วสะท้อนต่อเข้าไปในเลนส์กล้องหลักที่เรียกว่า Near-Infrared Camera อีกที แน่นอนว่าภาพที่ได้ยังคงพร่ามัว และได้ภาพซ้ำๆคนละมุมกัน ทีมงานจะเอาภาพนี้มาใช้ในการปรับตั้งจนสุดท้ายแล้วภาพซ้ำๆจะหายไปนั่นคือเกิดรวมกันเป็นภาพเดียวที่ชัดเจนในภายหลังซึ่งจะใช้เวลาจากนี้อีกราว 3 เดือน

ดาวฤกษ์เป้าหมายในภาพถ่ายแรกนี้คือดาว HD 84406 ซึ่งเป็นดาวคล้ายดวงอาทิตย์ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ อยู่ห่างออกไป 258.5 ± 0.6 ปีแสง กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์จะใช้ภาพของดาวดวงนี้ในการปรับตั้งโฟกัสของกระจก จากความที่ดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่โดดเดี่ยวห่างจากดาวดวงอื่นจึงถูกเลือกใช้จากทีมงาน ดาวฤกษ์ HD 84406 เป็นดาวประเภท G8IV มีความสว่างปรากฏ 6.944 ซึ่งมืดสลัวกว่าที่เราจะมองเห็นด้วยตาเปล่า (ดวงตามนุษย์มองเห็นแสงดาวที่มืดสลัวสุดที่แมกนิจูด 6.5) แต่จะสว่างชัดเจนเมื่อมองผ่านเลนส์กล้องดูดาว

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ยังได้รับคำสั่งให้ทดลองถ่ายภาพ “เซลฟี่” ตัวเองเป็นครั้งแรกด้วย ในภาพเราจะเห็นกระจกปฐมภูมิเคลือบทองคำทรงหกเลี่ยมทั้ง 18 แผ่น แบบเบลอๆ โดยมีกระจกแผ่นหนึ่งที่สว่างกว่าแผ่นอื่น ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากกระจกแผ่นดังกล่าวหันตรงกับทิศทางแสงของดาวฤกษ์ พอดี