ต้นเดือนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีภาพยนตร์ไซไฟเรื่องดัง ‘Moonfall’ ที่มีเนื้อหาถึงการที่มีแรงบางอย่างทำให้ดวงจันทร์เกิดเปลี่ยนวงโคจรเข้าชนโลกเราจนเกิดหายนะต่างๆนาๆ คำถามคือในแง่ของทางวิทยาศาสตร์แล้วจะเกิดเหตุการณ์แบบในภาพยนตร์ขึ้นมาจริงๆได้ไหม
ดวงจันทร์เป็นบริวารของดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะเมื่อเทียบขนาดกับตัวดาวแม่ ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อราว 4,510 ล้านปีที่แล้วด้วยทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันว่า เมื่อโลกเราเริ่มก่อตัวขึ้นมาไม่นาน สิ่งต่างๆในระบบสุริยะยุคเริ่มแรกยังชนกันไปมาวุ่นวาย ก็มีวัตถุอวกาศขนาดใหญ่โตพอๆกับดาวอังคารมีชื่อว่า ธีอา (Theia) พุ่งเข้าชนโลกจนมวลสารขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งหลุดออกไป ต่อมามวลสารก้อนนั้นก็กลายมาเป็นดวงจันทร์ที่เราเห็นทุกวันนี้
ดวงจันทร์มีขนาดราวๆ 27% ของโลก หากเปรียบโลกเราว่ามีขนาดเท่าลูกบาสเกตบอล ดวงจันทร์จะมีขนาดราวๆลูกเทนนิส มีปริมาตร 2% และมีมวลเพียง 1.23% ของโลก หมุนรอบตัวเองทุกๆ 27.321582 วัน และหันหน้าเดียวก็หาโลกตลอดเวลา
จากเหตุผลของแรงไทดัล ดวงจันทร์ค่อยๆถอยห่างออกจากโลกเราด้วยอัตราเร็ว 3.78 เซ็นติเมตรต่อปี (ความเร็วพอๆกับการงอกของเล็บนิ้วมือเรา) ขณะที่โลกเราก็ค่อยๆหมุนรอบตัวเองช้าลง
เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ข้อเดียวที่ดวงจันทร์จะเปลี่ยนวงโคจรเข้าชนโลก คือถูกชนด้วยวัตถุอวกาศขนาดใหญ่เช่นดาวเคราะห์น้อยในลักษณะเดียวกับการชนของลูกบ๋อยบนโต๊ะสนุ๊ก
มีดาวเคราะห์น้อยจำนวนนับแสนดวงใกล้กับวงโคจรของโลกในระบบสุริยะ ระบบระวังภัยของ NASA จะจับตาดูดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดตั้งแต่ 140 เมตรขึ้นไปโดยถือว่าเป็นขนาดที่อาจส่งผลคุกคามต่อโลก และโดยส่วนใหญ่แล้ว ด้วยมวลของโลกที่มีมากกว่าดวงจันทร์หลายเท่า ดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงโน้มถ่วงเบี่ยงเบนเข้าหาโลกมากกว่าจะตรงไปทางดวงจันทร์ ทำให้ดวงจันทร์มีโอกาสถูกชนน้อยกว่าโลกมาก
โชคดีที่ดาวเคราะห์น้อยดวงเด่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก็ยังมีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ถึง 70 เท่า และอยู่ห่างออกไปถึงแถบดาวเคราะห์น้อยนอกวงโคจรดาวอังคาร โอกาสจะเกิดเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเปลี่ยนวงโคจรดวงจันทร์จึงแทบไม่มี
และหากว่ากันตามขนาดของมวลแล้ว วัตถุที่จะชนดวงจันทร์จนหลุดออกจากวงโคจรได้ต้องมีขนาดพอๆกับตัวดวงจันทร์เอง ซึ่งเมื่อมองไปในระบบสุริยะก็พบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเทหวัตถุขนาดใหญ่แบบนี้เคลื่อนเข้ามาใกล้โลกหรือดวงจันทร์ คำตอบสำหรับคำถามด้านบนคือ เหตุการณ์ดวงจันทร์นโลกในธรรมชาติเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ที่มาและเครดิตภาพ https://www.space.com/could-moon-be-knocked-from-orbit-like-moonfall