ขณะที่ทั่วโลกกำลังรอคอยภาพถ่ายแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ซึ่งเป็นกล้องรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ทางด้านกล้องรุ่นพี่อย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ก็ยังคงทำงานต่อไปตามปกติ และได้ส่งภาพถ่ายสำคัญๆในอวกาศห้วงลึกมาให้เราชมอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในภาพดังกล่าวคือภาพของกลุ่มเมฆฝุ่นคาเมเลียน 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนเมฆฝุ่นยักษ์คาเมเลี่ยนคอมเพล็กซ์ในซีกฟ้าใต้
ผืนเมฆฝุ่นนยักษ์คาเมเลียนคอมเพล็กซ์ คือพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ให้กำเนิดดาวฤกษ์ large star forming region (SFR) มีความกว้างราวๆ 65 ปีแสง และอยู่ห่างจากระบบสุริยะของเราออกไปประมาณ 500 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวคาเมเลียน เมื่อมองจากโลกผืนเมฆฝุ่นยักษ์นี้ยังกินพื้นที่ไปถึงกลุ่มดาวข้างเคียงอีกหลายกลุ่มเช่นกลุ่มดาว Apus, Musca, Carina และ Octans
นักดาราศาสตร์แบ่งพื้นที่ของผืนเมฆฝุ่นนยักษ์คาเมเลียนคอมเพล็กซ์ออกเป็น 3 ส่วน อันได้แก่เมฆฝุ่นคาเมเลียน 1 2 และ 3 ตามลำดับ และภาพอันสวยงามที่เห็นนี้คือภาพที่ถ่ายด้วยความละเอียด 315 ล้านพิกเซลของกลุ่มเมฆฝุ่นคาเมเลี่ยน 1
นักดาราศาสตร์ฮับเบิลกล่าวว่า “ภาพนี้เผยให้เห็นเมฆเมฆฝุ่นหนาทึบที่ดาวฤกษ์เริ่มก่อตัวขึ้น มีเนบิวลาสะท้อนแสงพราวที่ส่องประกายด้วยแสงของดาวฤกษ์อายุน้อยสีฟ้าสดใส และปมเรืองแสงสีส้มด้านล่างของภาพที่เรียกว่าวัตถุเฮอร์บิก-ฮาโร”
วัตถุเฮอร์บิก-ฮาโร (Herbig-Haro object หรือ HH) คือชิ้นส่วนเล็กๆ ในเนบิวลาที่เกี่ยวข้องกับดาวฤกษ์เกิดใหม่ มันก่อตัวขึ้นจากแก๊สที่ฉีดออกมาจากการปะทะกันระหว่างดาวฤกษ์อายุน้อยกับกลุ่มเมฆแก๊สและฝุ่นที่อยู่ใกล้เคียงด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อวินาที วัตถุเฮอร์บิก-ฮาโรเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในย่านเกิดใหม่ของดาวฤกษ์ ทั้งยังสามารถพบได้รอบๆ ดาวฤกษ์เดี่ยว ตามแนวแกนการหมุนของดาวฤกษ์ วัตถุเฮอร์บิก-ฮาโรนี้จะมีอายุสั้นมาก คือเพียงไม่กี่พันปี มันมีวิวัฒนาการค่อนข้างซับซ้อนโดยบางส่วนของมันจะสลายตัวไปขณะที่บางส่วนสว่างขึ้นในจังหวะที่ปะทะกับสสารอื่นในพื้นที่ระหว่างดาวฤกษ์
วัตถุเฮอร์บิก-ฮาโร ในภาพนี้้มีชื่อว่า HH 909A
ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์พยายามศึกษาเมฆฝุ่นคาเมเลียน 1 เพื่อค้นหาดาวแคระน้ำตาลที่มีมวลต่ำและมีความมืดสลัวมาก ดาวแคระน้ำตาลนั้นมีมวลมากกว่าดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่สุด แต่ก็มีมวลน้อยกว่าดาวฤกษ์ดวงเล็กที่สุด ทำให้ไม่มีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชั่นที่แกนกลางดาว อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ก็พบดาวแคระชนิดนี้ดวงใหม่ๆในเมฆฝุ่นคาเมเลียน 1 ถึง 6 ดวงด้วยกัน ช่วยเพิ่มความเข้าใจในดาวฤกษ์ชนิดนี้มากยิ่งขึ้น
ที่มาและเครดิตภาพ http://www.sci-news.com/astronomy/hubble-chamaeleon-cloud-i-10526.html