หลังออกจากโลกช่วงคริสต์มาส ผ่านการเดินทางยาวนาน 29 วัน ผ่านระยะทางกว่า 1,500,000 กิโลเมตร บัดนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้ไปถึงจุดหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่อยู่ในรูปลักษณ์ของยานอวกาศ ได้ติดเครื่องยนต์นาน 297 วินาทีเมื่อ 02:00 ที่ผ่านมาเช้านี้ตามเวลาในประเทศไทย เพื่อเร่งความเร็วขึ้นอีก 1.6 เมตร/วินาที ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเร็วนี้ในปรับมุมเข้าสู่บริเวณจุดสมดุลแรงโน้มถ่วงลากรองจ์ที่ 2 หรือเรียกสั้นๆว่าจุด L2 ที่ซึ่งจะเป็นเหมือน “ที่ทำงาน” หรือบ้านใหม่ของเจมส์ เว็บบ์ไปอีกนาน 5 ถึง 10 ปีเป็นอย่างน้อย หรือจนกว่าพลังงานของยานจะหมดลง
ขั้นตอนหลังจากนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ จะหันแผ่นผ้าใบไปทางดวงอาทิตย์เพื่อให้ส่วนของกล้องตกอยู่ในเงามืด และจะใช้เวลาอีก 4 สัปดาห์เพื่อให้ตัวกล้องลดอุณหภูมิลงถึงจุดที่จะสามารถมองเห็นคลื่นอินฟราเรดจากอวกาศห้วงลึกได้ดี นั่นคือต้องเย็นลงถึง -233 องศาเซลเซียส

เมื่ออุณหภูมิคงที่แล้ว ก็จะเริ่มเปิดอุปกรณ์ทั้ง 4 ขึ้นมาเพื่อปรับตั้งค่าความละเอียดต่างๆ รวมทั้งจะมีการสอบทานตำแหน่งดาวที่กล้องมองเห็นให้ไปถึงจุดที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาถึง 5 เดือน นั่นหมายถึงภาพแรกๆที่เราจะได้เห็นเป็นผลงานจากเจมส์ เว็บบ์ จะต้องรอถึงปลายเดือนมิถุนายนเป็นอย่างเร็ว หรืออาจจะต้องรอถึงกลางเดือนกรกฎาคมก็เป็นไปได้

เครดิตภาพ (Image credit) https://www.scientificamerican.com/article/what-is-a-lagrange-point/
FYI: จุดสมดุลแรงโน่มถ่วง L2 เป็นจุดสมมุติเล็กๆที่มองไม่เห็น กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์นั้นจะไม่อยู่นิ่งแต่จะโคจรไปรอบจุด L2 โดยจะใช้ความเร็วโคจรครบหนึ่ง 1 รอบในทุกๆ 180 วัน กล้องโทรทรรศน์ตัวอื่นที่ทำงานอยู่บริเวณนี้ได้แก่ กล้องกายอา (Gaia) ที่เดินทางมาถึงตั้งแต่ 7 ปีก่อนหน้านี้นั่นคือ มกราคม 2557