ทีมงานผู้ควบคุมกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ยืนยันว่าตัวกล้องสามารถกางกระจกปฐมภูมิเคลือบทองคำได้สำเร็จเมื่อ 01:16 ของวันที่ 9 มกราคม 65 ที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย ขั้นตอนดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างกล้องโทรทรรศน์มูลค่าหมื่นล้านดอลล่าร์ที่ถูกพับมาให้เล็กจนใส่ในหัวจรวดระหว่างเดินทางออกจากโลกมาจนเป็นกล้องที่มีขนาดเต็มตามสัดส่วนที่ออกแบบมา
ทีมงานจากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ (STScI ) ที่เมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ต่างพากันฉลองความสำเร็จครั้งนี้ด้วยการปรบมือและโห่ร้องแสดงความดีใจ และกล่าวว่าพวกเขารู้สึกโล่งใจอย่างยิ่งที่สามารถผ่านขั้นตอนยากที่สุด และเสี่ยงจะล้มเหลวได้มากที่สุดไปเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะใช้เวลาอีกประมาณ 5 เดือนในการปรับแผ่นกระจกแบริลเลียมเคลือบทองคำรูปหกเหลี่ยมทั้ง 18 แผ่นให้ทำงานประสานสอดคล้องกันเสมือนเป็นกระจกปฐมภูมิขนาดใหญ่แผ่นเดียว โดยจะใช้มอเตอร์ 6 ตัวที่ด้านหลังขยับและหมุนแผ่นกระจกไปในทิศทางต่าง ๆ รวมทั้งสามารถบีบให้งอตัวได้เล็กน้อย เพื่อให้มีค่าความโค้งมนในการสะท้อนแสงที่ถูกต้องเหมาะสม ที่สุดท้ายกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ จะมีกระจกปฐมภูมิที่มีขนาดใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์รุ่นเก่าอย่างกล้องฮับเบิลหลายเท่า (ดูภาพล่าง)

ขณะนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ อยู่ห่างจากโลกเกือบ 1.1 ล้านกิโลเมตร อยู่ระหว่างการเดินทางไปยังจุดสมดุลแรงโน้มถ่วง L2 หรือจุดลากรองจ์ที่สอง (Lagrange point 2) ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่กล้องจะใช้เฝ้าสังเกตการณ์ห้วงอวกาศลึก โดยจุด L2 นี้อยู่ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร มีโลกบังแสงอาทิตย์ไว้ส่วนหนึ่งตลอดเวลา

การที่ต้องเดินทางไปที่จุด L2 และยังต้องมีแผ่นผ้าใบกันแสงอาทิตย์ 5 ชั้น ก็เพื่อให้ตัวกล้องอยู่ในอุณหภูมิต่ำมาก คือ -230°C ลงไป เพื่อให้จับสัญญาณอินฟราเรดจากอวกาศห้วงลึกได้ดีที่สุด

ทีมงานคคาดการณ์ว่าภาพแรกที่เราได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ น่าจะตกราวปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฏาคมปีนี้
เครดิตภาพ https://steemit.com