หลังรอคอยกันมายาวนานหลายปี ล่าสุดกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope -JWST) ก็ได้เดินทางออกจากโลกเพื่อไปประจำการ ที่ระยะห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร
กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างองค์กร NASA องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศแคนาดา (CSA) เพื่อสืบทอดภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นพี่ อย่างกล้องฮับเบิล ออกเดินทางด้วยแรงขับดันของจรวดเอเรียน 5 จากฐานปล่อย ELA-3 ศูนย์อวกาศกูรู ในจังหวัดเฟรนช์เกียนา (กุยยานฟร็องแซซ) ของประเทศฝรั่งเศส ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ 19:20 วันนี้ (25 ธันวาคม 2564) ตามเวลาในประเทศไทย
กล้องโทรทรรศน์อวกาศน้ำหนักกว่า 6 ตัน จะเดินทางไปโคจร ณ จุดสมดุลแรงโน้มถ่วง L2 หรือ ลากรองจ์ที่ 2 เพื่อให้ตัวกล้องหันหลังให้ดวงอาทิตย์โดยมีโลกเราคอยบังแสงและความร้อนส่วนใหญ่เอาไว้ กล้องจะหันหน้าสู่อวกาศอันมืดมิดไร้แสงรบกวนโดยตัวกล้องยังติดตั้งผ้าใบกันความร้อนขนาดใหญ่เพื่อรักษาอุณหภูมิของกระจกรับแสงและเครื่องมือวัดให้อยู่ที่ 50K หรือ −223°C ตลอดเวลา

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จะสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ในย่านสีส้ม ไปจนถึงคลื่นอินฟราเรดกลาง (0.6 to 28.3 μm) ซึ่งต่างจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลซึ่งสังเกตการณ์ตั้งแต่คลื่นใกล้อัลตราไวโอเลตผ่านคลื่นแสงที่มองเห็นได้ไปถึงคลื่นใกล้อินฟราเรด (0.1 to 1 μm) การที่กล้องเจมส์ เวบบ์สังเกตการณ์ในช่วงความยาวคลื่นที่ยาวกว่าฮับเบิล จะทำให้มันสามารถมองเห็นเทหวัตถุในอวกาศห้วงลึกที่เลื่อนไปทางย่านแดงได้มากเกินกว่าที่ฮับเบิลจะมองเห็นได้หลายเท่า นั่นคือกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จะมองจักวาลย้อนกลับไปสู่อดีตได้นานกว่า ทำให้เราสามารถศึกษาการกำเนิดและวิวัฒนาการของกาแล็กซีต่างๆ นอกจากนี้ตัวกล้องยังติดตั้งอุปกรณ์ที่จะมองเห็นลักษณะเฉพาะอย่างละเอียดของชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบที่อาจเอื้อชีวิตได้ด้วย
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ติดตั้งกระจกเบริลเลียมเคลือบทองทรงหกเหลี่ยม 18 แผ่น เมื่อกางออกจะทำให้มีขนาดของกระจกสะท้อนแสงที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างถึง 6.5 เมตร ใหญ่กว่ากระจกสะท้อนขนาด 2.4เมตรของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมาก ตัวเลนส์มีระยะโฟกัส 131.4 เมตร มีอัตราส่วนโฟกัส f/20.2 ทั้งหมดประกอบกันเป็นปัจจัยส่งให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ดีที่สุดเท่าที่เคยสร้างกันมา และหากกล้องเข้าสู่การทำงานได้อย่างที่มุ่งหวังไว้ มนุษย์เราจะมี “ดวงตาวิเศษ” ที่จะมองเห็นความลับของธรรมชาติจนอาจเปิดความรับรู้ใหม่ๆให้วงการวิทยาศาสตร์ในอนาคตได้อย่างหลากหลาย
หมายเหตุ นี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ จะต้องใช้เวลาเดินทางรวมทั้งการคลี่ผ้าใบกันความร้อน รวมทั้งแผ่นกระจกสะท้อนแสงผ่านขั้นตอนติดตั้งที่ละเอียดอ่อนทั้งหมด 344 ขั้นตอน จึงต้องใช้เวลานานจนถึงกลางปีหน้ากว่ากล้องจะพร้อมใช้งาน