นักวิจัยพบกระดูกต้นแขนของลิ่นโบราณสายพันธุ์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนใน Grăunceanu ซึ่งเป็นแหล่งฟอสซิลยุคไพลสโตซีนที่มีชื่อเสียงในประเทศโรมาเนีย
การวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์จากหนึ่งในแหล่งขุดค้นที่สำคัญที่สุดในยุโรปตะวันออกอย่างละเอียดนำไปสู่การค้นพบตัวลิ่นสายพันธุ์ใหม่ สัตว์ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิชาการเคยคิดว่าน่าจะเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบยุโรปช่วงยุคไพลสโตซีนตอนต้น แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจวบจนกระทั่งเวลานี้
“มันไม่ใช่ฟอสซิลแบบแฟนซีอะไร” แคลร์ เทอร์ฮูน รองศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ กล่าว “ที่เราพบมันก็แค่กระดูกชิ้นเดียว แต่เราก็ภูมิใจกับมัน เพราะฟอสซิลของตัวลิ่นนั้นหายากมาก และนี่ก็เป็นตัวลิ่นที่อายุน้อยที่สุดที่เคยพบและเป็นฟอสซิลตัวลิ่นตัวเดียวที่มาจากยุคไพลสโตซีนของยุโรป”
ฟอสซิลตัวลิ่นที่พบนี้มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 1.9 ถึง 2.2 ล้านปีก่อน ทำให้มันมีความสำคัญเนื่องจากก่อนหน้านี้การพบฟอสซิลของตัวลิ่นเกิดการขาดช่วงไปจากบันทึกของยุโรปตั้งแต่ช่วงกลางยุคไมโอซีน จนต้องตั้งสมมติฐานว่าพวกมันน่าจะอพยพไปอยู๋ที่อื่นเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

ทุกวันนี้เราพบตัวลิ่นในทวีปเอเชียและแอฟริกา พวกมันมีลักษณะคล้ายตัวอาร์มาดิลโล ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในอันดับ Cingulata ที่พบได้ในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ตัวลิ่นนั่นมีส่วนใบหน้าที่ยื่นยาว มีปากเป็นรูเล็กๆ ไม่มีฟัน เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน มันกินอาหารโดยการใช้ลิ้นที่เป็นเส้นยาวอาบด้วยน้ำลายที่เหนียวหนือตวัดกินมดหรือแมลงตามพื้นดินหรือซอกลำต้นของไม้ใหญ่เป็นอาหาร
ลิ่นมีลำตัวที่ปกคลุมด้วยเกล็ดเป็นชิ้น ๆ เหมือนสัตว์เลื้อยคลาน เกล็ดเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนชุดเกราะเพื่อใช้ในการป้องกันตัว เมื่อถูกรุกรานลิ่นจะลดลำตัวเป็นวงกลม ขณะที่ส่วนท้องจะไม่มีเกล็ด ซึ่งจะถูกโจมตีได้ง่าย
ลิ่นออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 1-2 ตัว ตั้งท้องนานราว 130 วัน เมื่อแรกเกิด ลูกลิ่นจะมีเกล็ดติดตัวมาตั้งแต่เกิด และจะเกาะกับแม่ตรงบริเวณโคนหาง ซึ่งลูกลิ่นวัยอ่อนจะยังไม่มีเกล็ดแข็งเหมือนกับลิ่นวัยโต แต่จะค่อย ๆ แข็งขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโต
ลิ่นมีเล็บยาวที่แข็งแกร่งและแหลมคมเพื่อใช้สำหรับขุดพื้นดินหาอาหารและขุดโพรงเป็นที่อยู่อาศัยและพักผ่อน และปีนต้นไม้
ทุกวันนี้มีความนิยมล่าตัวลิ่นมาเป็นอาหารบำรุงตามความเชื่ออันงมงายจนใกล้สูญพันธุ์ การค้าตัวลิ่นจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศรวมทั้งไทย
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยครั้งนี้ในวารสาร Journal of Vertebrate Paleontology