หลังทำหน้าที่รองรับการลงจอดของยานแลนเดอร์เทพอัคคี 祝融 “จู้หรง” ZHU RONG บนพื้นที่ที่เรียกว่า Utopia Planitia บนดาวอังคารตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บัดนี้ยานเทียนเวิ่น-1 (天问一号) จะปรับวงโคจรเพื่อทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจังนั่นคือสำรวจพื้นผิวดาวอังคารจากบนวงโคจรให้ทั่ว
เมื่อวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยานเทียนเวิ่น-1 ติดเครื่องยนต์จรวดเป็นเวลานาน 260 วินาทีเพื่อเร่งความเร็วขึ้นไปอีก 78 เมตรต่อวินาที เพื่อเปลี่ยนวงโคจรเข้าใกล้ดาวอังคารยิ่งขึ้น กล่าวคือเปลี่ยนจากการโคจรรอบละ 8 ชั่วโมง 12 นาทีที่ระยะใกล้สุด 400 กิโลเมตร ระยะไกลสุด 12,000 กิโลเมตร มาเป็นการโคจรรอบละ 7 ชั่วโมง 5 นาที ที่ระยะใกล้สุด 265 กิโลเมตร ระยะไกลสุด 10,700 กิโลเมตร
แผนเดิมที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้คือให้ยานเทียนเวิ่น-1 ใช้วงโคจรรอบดาวอังคารรอบละ 7 ชั่วโมง 48 นาที อย่างไรก็ตาม ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาปรากฏว่ายานโรเวอร์ “จู้หรง” ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ทีมงานควบคุมจึงตัดสินใจใช้วงโคจรใหม่เพื่อให้ยานเทียนเวิ่นยังคงถ่ายทอดสัญญาณจากยานโรเวอร์ต่อไปได้ขณะที่ทำหน้าที่สำรวจดาวด้วยการแสกนจากความสูงระดับวงโคจรด้วย
วัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ของ เทียนเวิ่น-1 (天问一号) คือการค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารทั้งในปัจจุบันและในอดีต การสร้างแผนที่พื้นผิวของดาว การระบุลักษณะองค์ประกอบของดิน การศึกษาการกระจายตัวของแหล่งน้ำและน้ำแข็ง รวมไปถึงการตรวจสอบองค์ประกอบในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์
เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งอยู่บนยาน “เทียนเวิ่น-1” มีดังต่อไปนี้
- กล้องถ่ายภาพความละเอียดปานกลาง Medium Resolution Camera (MRC) ครอบคลุมความละเอียดสำพัทธ์ที่ระดับ 100 เมตร จากความสูง 400 กิโลเมตรบนวงโคจร
- กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง High Resolution Camera (HRC) ครอบคลุมความละเอียดสำพัทธ์ที่ 2 เมตร จากความสูง 400 กิโลเมตรบนวงโคจร
- เครื่องวัดค่าสนามแม่เหล็ก Mars Magnetometer (MM)
- เสป็คโตรมิเตอร์ Mars Mineralogy Spectrometer (MMS) สำหรับระบุชื่อของธาตุในองค์ประกอบของวัตถุเป้าหมาย
- เรดาร์ Orbiter Subsurface Radar (OSR)
- เครื่องวิเคราะห์ไอออน Mars Ion and Neutral Particle Analyzer (MINPA)
- เครื่องวิเคราะห์อนุภาค Mars Energetic Particle Analyzer
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยาน Mars Express ขององค์การอวกาศยุโรปที่โคจรอยู่รอบดาวอังคารเวลานี้ ได้เข้าร่วมทดสอบการรับสัญญาณจากยานโรเวอร์ “จู้หรง” และถ่ายทอดสัญญาณนั้นกลับมาที่โลกด้วย การทดสอบถ่ายทอดสัญญาณระวังองค์การอวกาศยุโรปและจีนนี้เป็นครั้งแรกใน 5 ครั้งที่ทำความตกลงกันไว้ ทั้งนี้ได้มีการประเมินคุณภาพของสัญญาณที่รับจากยาน Mars Express ในวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน ผลที่ได้จะนำไปใช้ในการปรับปรุงตัวแปรต่างๆ เพื่อให้การถ่ายทอดสัญญาณชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป