เมื่อปลายยุคครีเทเชียสหรือราว 66 ล้านปีที่แล้ว ดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ดวงหนึ่งได้พุ่งเข้าชนโลก นอกจากส่งผลให้เกิดแรงกระแทกรุนแรง ยังก่อให้เกิดภัยพิบัติเลวร้ายติดตามมาหลายระลอก ทั้งคลื่นช็อคเวฟ ภูเขาไฟระเบิด คลื่นสึนามิ ไฟป่า ฝนกรด ไปจนถึงฤดูหนาวฉับพลันจากเถ้าเขม่าที่ลอยขึ้นไปบังแสงอาทิตย์เอาไว้ไม่ให้ส่องลงมาถึงผิวโลก พืชพันธุ์ล้มตาย สัตว์โลกสูญพันธุ์ไปถึง 80% โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพวกไดโนเสาร์ แต่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายวิกฤติขนาดนั้น บรรพบุรุษของนกในทุกวันนี้กลับรอดจากการสูญพันธุ์มาได้
ความลับของบรรพบุรุษนกที่คริส ทอร์เรส (Chris Torres) หัวหน้านักวิจัยด้านการวิจัยดุษฎีบัณฑิตมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ ค้นพบคือ พวกมันมีสมองส่วนหน้าหรือ cerebrum ทีมีขนาดใหญ่กว่าของสัตว์ที่คล้ายกันอย่างไดโนเสาร์ในยุคนั้น
ยังไม่ชัดเจนว่าสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่หลากหลายนั้น หน้าที่ไหนกันแน่ที่ไปช่วยให้เหล่าบรรพบุรุษนกรอดจากการสูญพันธุ์ครังใหญ่มาได้ เรื่องนี้คริส และทีมงานคิดว่าสมองส่วนหน้าท่มีขนาดใหญ่อาจจะช่วยให้นกสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้อย่างรวดเร็วพอที่จะให้ทันกับวิธีการอยู่รอดภายในสภาพแวดล้อมทีกำลังเปลี่ยนไปแบบทันทีทันใดและไม่หยุดหย่อนหลังการเข้าชนของดาวเคราะห์น้อย

กระดูกของนกโบราณนั้นไม่ค่อยจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นฟอสซิลเหมือนของไดโนเสาร์ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทีมงานของคริสได้รับฟอสซิลส่วนกระโหลกศรีษะที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของ “อิคธยีร์นิส” (Ichthyornis) นกทะเลมีฟันจากช่วงปลายยุคครีเทเชียสในรัฐแคนซัส และพบว่า “Ichthyornis” นั้นมีสมองส่วนหน้าที่มีขนาดเล็กเหมือนกับพวกไดโนเสาร์ นี่อาจเป็นเหตุให้พวกมันสูญพันธุ์ไป ไม่เหมือนนกโบราณอื่นที่มีสมองส่วนหน้าทีมีขนาดใหญ่กว่าคล้ายนกในปัจจุบันนี้
ทีมงานของคริสได้ใช้ CT Scan เพื่อสแกนฟอสซิลกระโหลกของ “อิคธยีร์นิส” เพื่อสร้างโครงสร้างใบหน้าและโครงสร้างสมองของนกโบราณชนิดนี้ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบดิจิทัล ผลการวิเคราะห์รูปร่างสมองบอกกับเราว่านกโบราณเช่น “อิคธยีร์นิส” นั้นมีสมองที่ “ล้าสมัย” สมองของมันมีลักษณะคล้ายกับสมองของไดโนเสาร์มาก คือมีสมองส่วน cerebrum ที่เล็กมาก
ที่มาและเครดิตภาพ https://www.space.com/how-birds-survived-asteroid-strike