ผลการศึกษาชิ้นกระดูกสะโพกจากซากฟอสซิลของ “เสือเขี้ยวดาบ” (Smilodon fatalis) ที่พบจมอยู่ใต้หลุมน้ำมันดิน “ลา บรีอา” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ยุคพลีสโตซีน พบว่าเป็นเสือที่ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรม dysplasia ในกระดูกจนไม่อาจออกล่าเหยื่อตั้งแต่ยังเล็ก แต่กลับมีชีวิตรอดจนเติบโตเข้าวัยผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างความเป็นสัตว์สังคมที่ต่างช่วยกันดูแลแบ่งปันอาหารให้สมาชิกที่เจ็บป่วยในฝูงเดียวกัน
ดร.ไมริน บาลิซี ดุษฎีบัณฑิตจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ Los Angeles ผู้นำทีมวิจัยกล่าวถึงโรค dysplasia ที่พบในเสือสไมโลดอนนี้ว่าเป็นโรคที่พบได้ทั้งในสุนัข สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ที่จะทำให้มันพิการตั้งแต่เล็ก ลำบากในการเคลื่อนไหว หากเป็นสัตว์นักล่าในกลุ่มแมวใหญ่อย่างเสือโคร่งหรือจากัวร์ ที่มีชีวิตอย่างโดดเดี่ยว มันคงตายไปตั้งแต่เด็กเพราะแม้แต่ป้องกันตัวเองยังทำไม่ได้อย่าว่าแต่ออกล่าเหยื่อที่ในยุคนั้นสัตว์กินพืชมักมีขนาดใหญ่และมีหนังหนา แต่เพราะเสือเขี้ยวดาบสไมโลดอน เป็นสัตว์สังคมเหมือนสิงโตหรือเสือชีต้า มันจึงรอดชีวิตอยู่ได้ด้วยความเกื้อหนุนจากพี่น้องในฝูง

เสือเขี้ยวดาบถือ ชื่อสามัญที่มักถูกเรียกกันบ่อยๆกว่า “Saber-tooth tiger” เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนักล่าที่โดดเด่นและอันตรายที่สุดชนิดหนึ่งที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ มันมีเขี้ยวบนคมกริบยาวหลายนิ้วที่จะตัดหลอดลมเหยื่อให้ขาดในทันทีส่งผลให้เหยื่อเสียชีวิตอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องอาศัยแรงกัดมากมายแบบสิงโตหรือเสือโคร่งในยุคปัจจุบัน
นักบรรพชีวินวิทยา เชื่อว่า เสือสไมโลดอนล่าเหยื่อขนาดใหญ่ที่เคลื่อนไหวช้า อย่างแมมมอธ ไบซัน ช้างมาสโตดอน เป็นอาหาร การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกได้ทำให้เหยื่อที่เหมาะกับพวกมันสูญพันธุ์ไปหมดเมื่อ 12000 ปีก่อน จึงทำให้พวกเสือเขี้ยวดาบต้องสูญพันธุ์ตามไปด้วย
งานวิจัยชิ้นนี้วารสาร Scientific Report ฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 64