ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ ก็ต้องแก้โดยมนุษย์ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องโลกร้อนครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนนี้ที่เมืองกลาสโกว์ของสก็อตแลนด์ ก็เพื่อความพยายามในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5°C เมื่อเทียบกับอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
คำมั่นสัญญาและแผนดำเนินงานที่ประเทศต่าง ๆ นำเสนอเมื่อ 6 ปีที่แล้วตามข้อตกลงกรุงปารีส หรือ Paris Agreement สุดท้ายแล้วก็พบว่ายังไม่เพียงพอที่จะจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5°C เพราะข้อมูลทางวิชาการขณะนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า โลกกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะของการมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.7°C เข้าไปแล้ว
การประชุมครั้งนี้จึงได้รับการจับตามองอย่างมาก ท่ามกลางความคาดหวังในตัวผู้นำโลก เพราะเราอาจเหลือเวลาพลิกสถานการณ์ของภาวะโลกร้อนไม่มากแล้ว
แต่ละประเทศที่อยู่ในภาคีอนุสัญญานี้จะต้องยื่นแผนปฏิบัติงานของตัวเอง เพื่อบอกว่า พวกเขาจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ และการประชุม COP26 นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการทบทวนแผนการฉบับล่าสุดของแต่ละประเทศที่เคยให้เอาไว้ในการประชุมครั้งก่อนๆ
หลายฝ่ายคาดหวังจะเห็นการให้คำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่นจากทุกประเทศสมาชิกว่าจะพยายามบรรลุภาวะของการมีก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “net-zero” emissions ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ.2050 ทั้งการหยุดถ่านหิน หยุดทำลายป่า ใช้รถไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาปน้ำมัน หยุดการปล่อยคาร์บอนจากโรงงานอุตสาหกรรม วิจัยและพัฒนาหาทางดูดเอาคาร์บอนในชั้นบรรยากาศโลกลงไปเก็บไว้ใต้ดินหรือเก็บในรูปแบบต่างๆ ปลูกต้นไม้ให้มากที่สุด ฯลฯ
แต่เท่านี้ยังไม่พอ เพราะที่ผ่านมาก็มีการประชุมเรื่องโลกร้อนหลายครั้งแต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับคืบน้าไปได้ช้ามาก ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากนโบายของแต่ละประเทศที่ไม่เคยสอดคล้องกับจุดหมายของการลดโลกร้อน ยกตัวอย่างเช่นจีนกับอินเดียที่เป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกยังไม่ได้เสนอแผนดำเนินการใด ๆ อย่างชัดเจน เม็กซิโกกับบราซิลก็ดูเหมือนจะเดินถอยหลังในเรื่องนี้ ส่วนประเทศผู้นำอย่างสหรัฐฯเองก็ไม่ต่างกัน แม้ประธานาธิบดีไบเดนจะแสดงความมุ่งมั่นและความร่วมมือของสหรัฐฯ ตามจุดมุ่งหมายนี้ แต่ขณะนี้รัฐสภาสหรัฐฯ เองก็ยังไม่ได้ออกกฎหมายใด ๆ ที่ให้อำนาจรัฐบาลในเรื่องนี้เลย นอกจากนั้น ข้อกำหนดที่สำคัญในร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังถูกแปรญัตติหรือถูกถอดออกจากตัวร่างด้วย
ปัญหาอีกด้านมาจากการผิดคำมั่นสัญญาของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่ตกลงกันไว้เมื่อปี 2552 ว่าจะให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนรวมหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ จนถึงปี 2019 เงินช่วยเหลือจากประเทศที่ร่ำรวยที่มอบให้ตามสัญญานี้กลับมีมูลค่ารวมกันเพียงแค่ราว 7 หมื่น 9 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
ก็ได้แต่หวังว่าการประชุม COP26 ครั้งนี้แม้อาจยังไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ท้ายสุดได้ตามที่ต้องการ แต่การประชุมครั้งนี้ก็นับเป็นก้าวที่สำคัญ ก่อนที่โลกเราจะผ่านจุดที่เลวร้ายจนไม่มีทางหวลคืน