เราพบอนุภาคไมโครพลาสติกปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆทั้งในดินแดนอันห่างไกลจากเมืองใหญ่ ตามเกาะต่างๆไม่ว่าจะห่างไกลผู้คนเพียงไหน เราพบมันตามท้องทะเลแม้แต่ก้นมหาสมุทร และล่าสุดเราเริ่มพบอนุภาคไมโครพลาสติกแขวนลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศโลกแล้ว
งานวิจัยที่จัดทำโดย ดร. ลอรา อี. เรเวลล์ ( Laura Revell) จากมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีของนิวซีแลนด์ ระบุว่าอนุภาคไมโครพลาสติกบนชั้นบรรยากาศ ส่งผลทำให้อุณหภูมิผิวโลกด้านล่างในบริเวณต่างๆเปลี่ยนแปลงไป มีทั้งร้อนขึ้นหรือไม่ก็เย็นลง
อนุภาคไมโครพลาสติกที่พบบนชั้นบรรยากาศโลกนั้น มักมีที่มาจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน สำหรับอนุภาคไมโครพลาสติกที่ทีมงานของ ดร. ลอรา มีข้อมูลเก็บไว้ ก็คืออนุภาคไมโครพลาสติกจากผ้าใยสังเคราะห์แบบไร้สี จะมีพฤติกรรมในการกระเจิงแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมา ทำให้อุณหภูมิผิวโลกด้านล่างนั้นลดต่ำลง แต่ทีมงานพบว่าอนุภาคไมโครพลาสติกที่มีที่มาจากสารชนิดอื่นบางชนิดก็ดูดกลืนแสงอาทิตย์เอาไว้ ทำให้อุณหภูมิผิวโลกด้านล่างนั้นสูงขึ้น
เนื่องจากปริมาณอนุภาคและความหลากหลายของชนิดไมโครพลาสติกในแต่ละภูมิภาคของโลกไม่เหมือนกันเช่นบรรยากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกบางส่วน มีไมโครพลาสติกอยู่เพียง 0.01 อนุภาคต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ท้องฟ้าเหนือกรุงปักกิ่งของจีน มีไมโครพลาสติกหนาแน่นถึง 5,500 อนุภาคต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้อุณหภูมิผิวโลกที่สัมพันธ์กับอนุภาคไมโครพลาสติกบริเวณต่างๆเแปรปรวนไม่เหมือนกัน ทีมวิจัยเน้นว่าแม้เวลานี้ปริมาณไมโครพลาสติกบนชั้นบรรยากาศยังมีไม่มาก แต่ก็ต้องคอยติดตามศึกษาและเก็บข้อมูลเอาไว้โดยไม่ชักช้าเพราะนี่อาจเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สร้างความผกผันให้กับสภาพภูมิอากาศโลกในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อน