“ข้อถกเถียงระหว่างเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่มีมายาวนานกว่าร้อยปีถึงการสูญพันธุ์ของช้างแมมมอธ กำลังจะได้บทสรุป” ศาสตราจารย์เอ็สเกอ วิลเลอร์สเลฟ (Eske Willerslev) นักพันธุศาสตร์วิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และมูลนิธิ Lundbeck Foundation ด้านวิวัฒนาการที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ผู้มีชื่อเสียงจากงานบุกเบิกด้านมานุษยวิทยาโมเลกุล บรรพชีวินวิทยา และนิเวศวิทยา พูดถึงเรื่องนี้์
“มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เคยถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช้างแมมมอธด้วยเหตุผลที่เชื่อกันว่าพวกมันเคยรอดชีวิตมาผ่านความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศมาได้หลายล้านปีโดยไม่สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ แต่พอมาอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ที่วิวัฒนาการตามหลังมาจนทัน แมมมอธเหล่านี้ก็หายไปจากโลกในเวลาไม่นาน ”
ล่าสุดทีมวิจัยนานาชาตินำโดยดอกเตอร์ Yucheng Wang จากภาควิชาสัตววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบหลักฐานยืนยันถึงสาเหตุทึ่แท้จริงที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดยักษ์อย่างแมมมอธขนยาวต้องสูญสิ้นไปจากโลกว่าไม่ได้มาจากการไล่ล่าของมนุษย์
“ทีมงานของเราใช้ metagenomic DNA วิเคราะห์ตัวอย่างตะกอนดินเยือกแข็งและตะกอนในทะเลสาบจำนวน 535 ตัวอย่างจากทั่วเขตอาร์กติกซึ่งตรงกับช่วงเวลา 50,000 ปีที่ผ่านมา จนเกิดเป็นหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้แมมมอธขนยาวสูญพันธุ์ไม่ใช่มนุษย์ แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ไม่ได้เหมือนช่วงหลายล้านปีที่ผ่านมา เพราะความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่กวาดล้างแมมมอธจนสิ้นไปจากโลกนั้นเกิดขึ้นแบบฉับพลันเกินกว่าที่สัตว์ยักษ์กินจุเหล่านี้จะปรับตัวได้ทัน”
แมมมอธขนยาวยักษ์ ( Mammuthus primigenius ) มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้มานานราว 5 ล้านปี ท่ามกลางยุคน้ำแข็งที่ยาวนาน มันใช้งาขนาดใหญ่เพื่อขุดชั้นน้ำแข็งด้านบนออก และใช้งวงล้วงลงไปถอนพืชใต้น้ำแข็งขึ้นมากินเป็นอาหาร ด้วยขนาดร่างกายที่ใหญ่โต ทำให้พวกมันต้องกินอาหารเป็นปริมาณมากในแต่ละวัน
“ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลงเมื่อ 12,000 ปีก่อนเมื่อธารน้ำแข็งเริ่มละลายและระยะการสัญจรของฝูงแมมมอธก็เริ่มลดลง”
“เมื่อสภาพอากาศเปียกชื้นและน้ำแข็งเริ่มละลาย ก็นำไปสู่การก่อตัวเป็นทะเลสาบ แม่น้ำ และหนองบึง” ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ รวดเร็วเกินกว่าที่พวกแมมมอธจะวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนชนิดอาหารได้ทัน
“อิงจากแบบจำลองของเรา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝน เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณโดยตรง”
“มนุษย์มีส่วนอยู่บ้างที่ล่าแมมมอธ แต่ไม่ใข่สาเหตุหลัก สัตว์อื่นที่เล็กและล่าง่ายกว่าแมมมอธก็มีอยู่มากมายในยุคนั้น”