ทีมนักบรรพชีวินวิทยาของจีน นำโดยศาสตราจารย์ Bo Wang จากสถาบันธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์นานกิง วิเคราะห์ซากฟอสซิลที่พบในหมวดหินซิ่วซาน และพบว่าฟอสซิลที่พบนี้เป็นของแมงป่องทะเลสปีชีส์ใหม่ ที่ขนาดร่างกายของมันอาจยาวได้ถึง 1 เมตร
แมงป่องทะเลที่พบนี้ถูกตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบว่า Terropterus xiushanensis เป็นแมงป่องทะเลในวงศ์มิกซ์ซอปเทอริด (Mixopteridae) มีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อราว 435 ล้านปีก่อนในยุคไซลูเรียน
แมงป่องทะเล (Sea scorpion) เป็นสัตว์ขาปล้อง (Arthropod) ในอันดับยูริปเทอริดา (Eurypterida) ที่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ลักษณะทั่วไปของมันจะดูคล้ายแมงป่องในยุคปัจจุบัน มักอาศัยล่าเหยื่ออยู่ในทะเลหรือแหล่งน้ำจืดต่างๆ พวกมันมีหลายชนิด แต่ละชนิดก็จะมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไป แมงป่องทะเลบางชนิด เช่น ในวงศ์ Pterygotidae อาจมีความยาวสูงสุดได้ถึง 2.5 เมตร ถือได้ว่าเป็นสัตว์ขาปล้องที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีชีวิตบนโลกนี้

แมงป่องทะเลที่เคยค้นพบมาก่อนหน้านี้และเป็นที่รู้จักกันทั้ง 4 ชนิด อันได้แก่ Mixopterus kiaeri จากนอร์เวย์ Mixopterus multispinosus จากนิวยอร์ก Mixopterus simonsoni จากเอสโตเนีย และ Lanarkopterus dolichoschelus จากสกอตแลนด์ ล้วนแล้วแต่เป็นฟอสซิลที่มาจากมหาทวีปลอเรเชียในยุคโบราณ
แต่แมงป่องทะเล Terropterus xiushanensis ที่ทีมงานเราพบนี้ เป็นแมงป่องทะเลชนิดแรกจากมหาทวีปกอนด์วานา และถือเป็นแมงป่องทะเลในสกุลมิกซ์ซอปเทอริดที่เก่าแก่ที่สุดที่เรารู้จัก และน่าจะเป็นนักล่าอันดับสูงสุดในช่วงเวาและบริเวณพื้นที่ที่พวกมันอาศัยอยู่ ด้วยขาคูู่่ที่ 2 ที่ยื่นยาวและเต็มไปด้วยหนามแหลมคมที่เรียงตัวแบบเฉพาะ ทำให้ขาคู่นี้ทำหน้าที่เป็นเหมือน “ตะกร้า” ที่ใช้กวาดจับเหยื่อที่มีขนาดร่างกายเล็กกว่าเป็นอาหารได้อย่างไม่ยากเย็น
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยครั้งนี้ในวารสาร journal Science Bulletin.