กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยุโรป แม้ประเทศที่เข้าส่งวงการใหม่ๆอย่างอินเดีย และล่าสุดก็คือจีน ต่างก็พยายามส่งยานอวกาศของตนไปศึกษาดาวอังคาร ด้วยวัตถุประสงค์คล้ายกันคือศึกษาอดีตของมันว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่และสภาพดาวเปลี่ยนแปลงจนไร้ชีวิตเหมือนทุกวันนี้ได้อย่างไร รวมทั้งอนาคตของดาวแดงว่าจะสามารถตั้งถิ่นฐานเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้หรือไม่
ในห้วงเวลาของการสำรวจดาวอังคารที่ผ่านมานั้น ในทุกๆ 2 ปีจะมี 2 สัปดาห์ที่ยานอวกาศทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นของประเทศใด ก็ล้วนแล้วแต่จะต้องขาดการติดต่อไปจากสถานีควบคุมบนโลกของประเทศตน ด้วยเหตุผลทางธรรมชาติ นั่นคือดาวอังคารเข้าสู่ช่วง Solar conjunction
Solar conjunction คือช่วงที่ดาวอังคารกับโลกของเรา เรียงเป็นเส้นตรงกับดวงอาทิตย์ โดยมีดวงอาทิตย์คั่นอยู่ตรงกลาง และด้วยคุณสมบัติของชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ซึ่งส่งผลให้เกิดการบังและดูดกลืนคลื่นสื่อสารทุกชนิด นั่นหมายถึงในห้วงเวลาที่เกิด Mars solar conjunction ดังกล่าวนั้น เราจะขาดการติดต่อสื่อสารดาวอังคารไปอย่างสิ้นเชิง

ในระหว่างการเกิดปรากฏการณ์นี้ ศูนย์ควบคุมยานอวกาศของประเทศต่างๆบนโลกจะเลือกวิธีในการปฏิบัติที่ต่างๆกันไป เช่นบางประเทศอาจสั่งปิดระบบของยานโรเวอร์บนผิวดาวนั่นคือการให้ยานเข้าสู่ sleep mode ส่วนยานอวกาศก็ปล่อยให้โคจรรอบดาวอังคารไปเงียบๆเพราะไร้ประโยชน์สื่อสารกัน หรือบางประเทศอาจส่งคำสั่งให้ระบบ AI ของยานโรเวอร์ทำงานสำรวจต่อไป โดยให้ AI ตัดสินใจแก้ปัญหาเบื้องต้นเอง
ในปี 2564 นี้ ปรากฏการณ์ Mars solar conjunction จะตัดการสื่อสารส่วนใหญ่ระหว่างโลกและดาวอังคารในช่วงวันที่ 2 -16 ตุลาคม ซึ่งทาง NASA ก็ได้วางแผนให้ยานสำรวจแต่ละลำทำงานต่อเนื่องไปไม่ต้องหยุด ยกตัวอย่างเช่น
ยานโรเวอร์ Perseverance ซึ่งเป็นยานโรเวอร์ 6 ล้อลำใหม่ล่าสุดที่ลงจอดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คงให้ทำงานตรวจวัดค่าต่างๆของสภาพอากาศ ถ่ายภาพพายุหมุน (dust devil) บนผิวดาวอังคารที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายมุมกล้อง เปิดโหมดฟังและบันทึกเสียงของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว ฯลฯ ซึ่ง Twitter ส่วนตัวของยานก็ได้ทวิตออกมาแล้วว่าได้พบจุดจอดยานที่เหมาะสมสำหรับทำงานต่อไปเรื่อยๆในช่วงระหว่าง 2 สัปดาห์ที่ขาดการติดต่อสื่อสารกับโลก
สำหรับยานโรเวอร์รุ่นพี่อย่าง Curiosity ที่ลงจอดปฏิบัติงานสำรวจบนดาวอังคารมาตั้งแต่ปีพ.ศ 2555 และเคยถามปรากฏการณ์นี้มาหลายครั้งโดยยานไม่เคยเสียหาย ในปีนี้ก็จะทำงานคล้ายๆรุ่นน้องนั่นคือตรวจวัดสภาพอากาศและสังเกตการเกิดพายุหมุน
ยังสำรวจละหมื่นยกตัวอย่างเช่นเฮลิคอปเตอร์ Ingenuity นั้นคงขึ้นบินไม่ได้ รอบนี้จึงต้องจอดรอคอยเวลาช่วง Mars solar conjunction นี้ให้ผ่านไป
ยานสํารวจทางธรณีวิทยา InSight นั้นน่าจะมีปัญหาน้อยกว่าเพื่อนเนื่องจากตัวยานเคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้ ดังนั้นจึงได้รับคำสั่งให้ทำการตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวต่อไป
ส่วนยานโคจรที่วนอยู่รอบดาวอังคารเช่น MRO หรือ MAVEN ก็คงโคจรต่อไปเรื่อยๆรอจนกว่าปรากฏการณ์ Mars solar conjunction นี้ผ่านพ้นไป
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจต่างๆในสภาวะที่ขาดการติดต่อสื่อสารกับโลกนั้น ก็จะยังคงเก็บรักษาอยู่ในหน่วยความจำของยานสำรวจทุกลำ เพื่อส่งกลับมายังโลกเราทันทีที่ปรากฏการณ์ Mars solar conjunction ผ่านพ้นไป
ที่มา https://www.space.com/nasa-mars-blackout-solar-conjunction-2021