ท่ามกลางดาวเคราะห์นอกระบบหลายพันดวงที่รู้จักกันในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์มวลต่ำที่มีขนาดตั้งแต่ 1-4 เท่าของมวลโลกที่เรียกว่าซูเปอเอิร์ธ ไปจนถึงดาวเคราะห์ยักษ์ที่มีขนาดไม่เกินดาวเนปจูน ในชื่อเรียกว่ามินิเนปจูน
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าดาวเคราะห์นอกระบบเหล่านี้มักมีชั้นบรรยากาศที่อุดมไปด้วยแก้สไฮโดรเจนและมีอุณหภูมิหรือความกดอากาศสูงเกินกว่าจะเกื้อหนุนให้เกิดวิวัฒนาการของชีวิตจนอยู่รอดได้
แต่ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นำโดย ดร. Nikku Madhusudhan พบว่าอาจสามารถแยกประเภทดาวเคราะห์นอกระบบในกลุ่มนี้ออกมาเป็นประเภทใหม่ ที่มีคุณสมบัติบางอย่างที่อาจเหมาะสมกับวิวัฒนาการของชีวิตได้
ดาวเคราะห์ประเภทใหม่ที่ว่านี้เรียกว่า “ไฮเชียน” Hycean (Hydrogen+Ocean) ชื่อนี้มาจากลักษณะของมันคือมีมหาสมุทรขนาดใหญ่ครอบคลุมเนื้อที่เกือบทั่วทั้งดาวอยู่ใต้ชั้นบรรยากาศที่อุดมด้วยไฮโดรเจน
ดาวเคราะห์เหล่านี้อาจมีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 2.6 เท่า และมีอุณหภูมิชั้นบรรยากาศสูงถึงเกือบ 200 องศาเซลเซียส แต่ก็มีผิวดาวที่เต็มไปด้วยน้ำมากมายจนเป็นมหาสมุทรที่เอื้อต่อการก่อเกิดชีวิตขนาดเล็กเหมือนจุลินทรีย์ในมหาสมุทรของโลกเรา
ดาวเคราะห์ “ไฮเชียน” ที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบจะหันด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ที่ทำหน้าที่เป็นดวงอาทิตย์ของมันตลอดเวลา ชีวิตก็จะสามารถก่อเกิดได้ในฟากตรงข้ามของดาวที่จะเป็นกลางคืนไปตลอดจึงมีอุณหภูมิที่เย็นกว่า
ส่วนดาวเคราะห์ “ไฮเชียน” ที่อยู่ไกลดาวฤกษ์ออกมาก็แน่นอนว่าจะได้รับแสงแดดน้อยตามส่วน และน่าจะมีบางช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมให้ก่อเกิดชีวิต
ทีมงานคาดว่าดาวเคราะห์แบบ “ไฮเชียน” อาจมีมากมายจนกลายเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่ของดาวเคราะห์นอกระบบ แต่อาจไม่ง่ายที่จะค้นหาว่าดวงใดเป็น “ไฮเชียน” กันแน่เพราะดูจากขนาดของดาวเคราะห์อย่างเดียวไม่ได้ต้องดูคุณสมบัติอื่นๆด้วย
ดร. Anjali Piette จากสถาบันดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่พบสภาพที่เอื้ออำนวยให้ก่อเกิดชีวิตบนดาวเคราะห์ที่แตกต่างจากโลกเรามาก และอาจตรวจพบได้อย่างง่ายดายด้วยการสังเกตการณ์ทางสเปกโตรสโกปีในอนาคตอันใกล้นี้”
ขนาดที่ใใหญ่กว่า ความกดอากาศที่สูงกว่าและส่วนผสมของบรรยากาศที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจนทำให้ “ไฮเชียน” เป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่โดดเด่นและน่าจะตรวจพบได้ไม่ยาก ยกตัวอย่างดาวเคราะห์ K2-18b หรืออีกชื่อหนึ่งคือ EPIC 201912552 b ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวแคระแดง K2-18 อยู่ห่างจากโลก 124 ปีแสง เป็นต้น
พูดง่ายๆคือเวลานี้เรามีดาวเคราะห์นอกระบบประเภทใหม่ที่เราจะมองหาชีวิตต่างภพได้มากกว่าเดิมที่มักพุ่งเป้าไปที่ดาวเคราะห์หินขนาดเท่าโลกเท่านั้น
ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานครั้งนี้ลงในวารสาร Astrophysical Journal