เมื่อ 90 ล้านปีก่อน แม่เต่าตัวหนึ่งได้วางไข่ไว้ในรังแต่มีไข่อยู่ฟองหนึ่งที่ไม่ได้ฟักเป็นตัว และเปลือกไข่ที่มีความหนาและคงทนก็ได้ปกปักรักษาซากตัวอ่อนภายในเอาไว้อย่างสมบูรณ์แบบจนถึงทุกวันนี้
ไข่เต่าฟองนี้เป็นของเต่ายักษ์ Yuchelys nanyangensis ถูกค้นพบในมณฑลเหอหนานของจีนโดยชาวนาผู้หนึ่งที่ในภายหลังได้บริจาคไข่ฟองนี้ให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเพื่อการศึกษา และหลังจากทางมหาวิทยาลัยได้ลงมือวิเคราะห์ไข่ฟองนี้ก็พบว่านี่คือครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุชนิดของตัวอ่อนเต่าที่เคยมีชีวิตร่วมยุคกับไดโนเสาร์ได้สำเร็จ
เต่า Yuchelys nanyangensis เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดพอๆกับมนุษย์ พวกมันเป็นเต่าน้ำจืดที่สูญพันธุ์ไปพร้อมไดโนเสาร์จากเหตุการณ์ดาวหาง/ดาวเคราะห์น้อยชนโลกเมื่อปลายยุคครีเทเชียสหรือเมื่อราว 66 ล้านปีก่อน

แม่เเต่า Yuchelys nanyangensis น่าจะสร้างรังไว้ในดินชื้นริมฝั่งน้ำ และวางไข่ไว้ 15-30 ฟอง ไข่เต่าแต่ละฟองมีขนาดราว 5.4 คูณ 5.9 เซ็นติเมตร พอๆกับลูกเทนนิส เปลือกไข่มีความหนา 1.8 มิลลิเมตร นั่นคือหนากว่าเปลือกไข่เต่ากาลาปากอสในปัจจุบัน 4 เท่าและหนากว่าเปลือกไข่ไก่ 6 เท่า แต่ถ้าไปเทียบกับไข่ฟองใหญ่กว่านี้อย่างไข่นกกระจอกเทศก็ยังถือว่าบางกว่า
ทีมงานของทางมหาวิทยาลัยใช้สูตรคำนวนเพื่อหาขนาดของแม่เต่าเทียบกับขนาดของฟองไข่ พบว่าแม่เต่า Yuchelys nanyangensis ตัวนี้มีขนาดกระดองยาว 160 เซ็นติเมตรไม่รวมความยาวของหัวและหาง พูดง่ายๆคือเต่าน้ำจืดโบราณตัวนี้มีขนาดยาวพอๆกับมนุษย์ กระดองมีลักษณะแบนมาก อาจเพื่อความคล่องตัวขณะหากินในแม่น้ำ
ทีมงานลองใช้ไมโครซีทีสแกน เพื่อสร้างภาพ 3 มิติเสมือนจริงของไข่และตัวอ่อนของไข่ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบภาพเหล่านี้กับเต่าในยุคปัจจุบัน ดูเหมือนว่าตัวอ่อนเต่าโบราณนี้จะได้รับการพัฒนาเกือบ 85% แล้ว และที่ฟองไข่ยังมีรอยแตกที่ดูเหมือนลูกเต่าพยายามจะฟักตัวออกมาแต่ไม่สำเร็จ มันได้ตายเสียก่อนออกจากไข่ น้ำได้ซืมเข้าไปในฟองไข่ แร่ธาตุต่างๆได้เปลี่ยนสภาพไข่ฟองนี้ให้กลายเป็นฟอสซิลโดยสมบูรณ์
ที่มา https://www.livescience.com/rare-turtle-embryo-from-dinosaur-age.html